posttoday

ปลดล็อกการเมือง เปิดฉากสงคราม

12 ธันวาคม 2561

สิ้นสุดการรอคอยหลังคสช.ปลดล็อกการเมืองอย่างเป็นทางการเพื่อให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้เป็นปกติ

สิ้นสุดการรอคอยหลังคสช.ปลดล็อกการเมืองอย่างเป็นทางการเพื่อให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้เป็นปกติ

สิ้นสุดการรอคอยกันเสียที ภายหลัง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่ง ปลดล็อกการเมืองอย่างเป็นทางการ เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้
เป็นปกติ

ทั้งนี้ จะว่าไปแล้วการปลดล็อก ดังกล่าวก็เป็นไปตามที่ คสช.ประกาศเอาไว้ว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้ทันทีที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธ.ค.

“จึงเป็นที่แน่ชัดว่าจะมีการเลือกตั้งในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศ ประชาชนจึงควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองเพื่อเข้าไปบริหารประเทศได้อย่างอิสระและเสรี และควรที่พรรคการเมืองจะสามารถรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เพื่อนำเสนอนโยบายที่ใช้ในการบริหารประเทศต่อประชาชนได้อันเป็นวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงสมควรดำเนินการเพื่อให้ประชาชนและพรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” เหตุผลสำคัญที่ คสช.ประกาศปลดล็อกการเมือง

เมื่อ คสช.แสดงความชัดเจนออกมาเป็นเช่นนี้แล้ว การเลือกตั้งที่คนไทยรอคอยมานานกว่า 4 ปีจะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 2562 อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความยินดีปรีดาที่การเลือกตั้งกำลังจะเกิดขึ้นนั้น อีกด้านหนึ่งต้องไม่ลืมว่าสงครามการเมืองระลอกใหม่ก็กำลังจะอุบัติขึ้นเช่นกัน คือ แรงกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ลาออกจากตำแหน่ง

กระแสในเรื่องนี้ก่อตัวขึ้นมาเป็นระยะนับตั้งแต่ 4 รัฐมนตรีของรัฐบาลเข้าไปสมัครและมีตำแหน่งในพรรคพลังประชารัฐ ประกอบด้วย อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้าพรรค สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เลขาธิการพรรค สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองหัวหน้าพรรค กอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.สำนักนายกฯ โฆษกพรรค

หลายฝ่ายเรียกร้องให้รัฐมนตรีทั้ง 4 คนลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากการเข้ามาเล่นการเมืองในระหว่างการเป็นรัฐมนตรีทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง

แต่ดูเหมือนว่ากระแสกดดันในครั้งนั้นยังไม่ได้ผลเท่าใดนัก โดยทั้ง 4 รัฐมนตรียืนยันว่าจะขอทำหน้าที่ต่อไป ส่วนการทำงานการเมืองในนามพรรคพลังประชารัฐจะไม่รบกวนเวลาของราชการ เรียกได้ว่าขอสวมหมวกสองใบทำงานการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน

มาในเวลานี้ กระแสกดดันให้ลาออกย่อมเกิดขึ้นอีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุที่ขณะนี้กฎหมายเลือกตั้ง สส.มีผลบังคับใช้และเริ่มนับถอยหลัง 150 วันสู่วันเลือกตั้งแล้ว อีกทั้งพรรคพลังประชารัฐกำลังประกาศให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นว่าที่นายกฯ ของพรรคด้วย แต่ที่สำคัญที่สุดคือรัฐบาลชุดนี้ยังคงถืออำนาจพิเศษในมือต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่

จากเงื่อนไขเหล่านี้ แทบไม่ต้องคิดเลยว่าการเลือกตั้งรอบนี้จะเดือดขนาดไหน เมื่อผู้คุมกติกากลายมาเป็นผู้เล่นในสนามเสียเอง

แต่กระนั้นถ้าให้ถามว่าทีมงานพรรคพลังประชารัฐและ 4 รัฐมนตรีรู้ถึงสถานการณ์เหล่านี้หรือไม่ คำตอบที่ได้ คือรู้อยู่เต็มอก เพียงแต่รัฐมนตรี 4 คนไม่อาจลาออกจากตำแหน่งในเวลานี้ได้ เหตุผลของการยื้ออยู่ในตำแหน่งต่อไปไม่ได้เป็นเรื่องของการหารัฐมนตรีคนใหม่มามาทำหน้าที่แทน แต่เป็นเพราะหากรัฐมนตรียกคณะลาออกพร้อมกัน 4 คน กระแสจะลามมาถึงตัวบิ๊กบอสอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ด้วย

อย่างที่ทราบกันดีฝ่ายตรงข้ามกำลังจ้องจองกฐิน พล.อ.ประยุทธ์กันอยู่แล้ว เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ มีความได้เปรียบเหนือคนตรงที่แม้จะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้ว แต่รัฐบาลก็ยังสามารถใช้อำนาจได้โดยสมบูรณ์ พูดง่ายๆ คือจะออกมาตรการในทางงบประมาณใดก็ย่อมทำได้ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญแบบรัฐบาลรักษาการทั่วไป

การดำเนินการของรัฐบาลภายใต้แบรนด์บิ๊กตู่คงมีผลในแง่ดีต่อพรรคพลังประชารัฐไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ดูตัวอย่างแค่การแจกเงิน 500 บาท ให้กับประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการประชารัฐ ก็เริ่มมีกระแสบวกต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ในทำนองว่าอยากให้เป็นนายกฯ อีก

ดังนั้น เกมการเมืองที่พรรคพลังประชารัฐและทีมงานที่ต้องเดินกัน ต่อไปนี้ คงหนีไม่พ้นการช่วยเป็นกำแพงกันสึนามิป้องกันไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับแรงเสียดทานการเมืองด้วยการที่ 4 รัฐมนตรียังคงต้องทำงานในรัฐบาลต่อไปเพื่อไม่ให้เกิดกระแสไฟลามทุ่ง

การเมืองไทยไม่มีอะไรแน่นอน มีแต่เมื่อได้คืบแล้วจะเอาศอก เหมือนกับที่ครั้งหนึ่ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยประกาศยุบสภาแต่ฝ่ายตรงข้ามยังไม่ลดราวาศอก โดยยกระดับการชุมนุมและสร้างเงื่อนไขทางการเมืองมากขึ้นไปอีก

ครั้งนี้ก็เช่นกัน ไม่มีหลักประกันว่าถ้า 4 รัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ ลาออกแล้วเรื่องจะจบ ทางที่ดีควรอยู่ในตำแหน่งเพื่อรักษาความได้เปรียบต่อไป

เมื่อเลือกเดินเกมแบบนี้ กระแสและแรงต้านทางการเมืองจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่พรรคพลังประชารัฐต้องแบกรับเอาไว้เอง