posttoday

ปล่อยหาเสียงศก.คึก - นักลงทุนมั่นใจการเมือง

12 ธันวาคม 2561

นักเศรษฐศาสตร์ เผยต่างชาติชะลอลงทุน รอผลเลือกตั้งชัดเจน ชี้เป็นเรื่องดีปลดล็อกหาเสียงได้

นักเศรษฐศาสตร์ เผยต่างชาติชะลอลงทุน รอผลเลือกตั้งชัดเจน ชี้เป็นเรื่องดีปลดล็อกหาเสียงได้

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า เมื่อรัฐบาลประกาศเลือกตั้งชัดเจน น่าจะทำให้คนภายในประเทศ ลดความกังวลใจ ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร เมื่อประกาศออกมาชัดเช่นนี้ ก็ทำให้ผู้ลงทุนเห็นได้ชัดว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งคนส่วนใหญ่มีความคิดว่า เมื่อมีการเลือกตั้งก็น่าจะทำให้ทุกอย่างขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี ทำให้นักลงทุนต่างประเทศมาร่วมลงทุนกับไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อที่น่าเป็นห่วง เมื่อประกาศให้มีการเลือกตั้งอย่างนี้แล้ว สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือ จะต้องทำให้ระบบเศรษฐกิจและประเทศดำเนินไปด้วยความสงบและเรียบร้อยด้วย ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่นักลงทุนเป็นห่วง จากการที่ได้พบนักลงทุนต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิกมาตรา 44 โดยปลดล็อกให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ เป็นการเปิดทางให้พรรคการเมืองหาเสียงได้อย่างถูกต้อง เป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้ได้มีโอกาสศึกษา นโยบายเศรษฐกิจของแต่ละพรรคว่า เป็นอย่างไร จะมุ่งเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจระยะยาวหรือหาเสียงระยะสั้น รวมทั้งจะมีความชัดเจนมากขึ้นว่าโครงการภาครัฐต่างๆ ที่ดำเนินการมา เช่น การปฏิรูปอุตสาหกรรมใหม่ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนนั้นจะถูกสานต่อหรือไม่

“อีกโจทย์ที่สำคัญคือนโยบายการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ ซึ่งเงินที่นำมาใช้เป็นเงินภาษีของประชาชน หากมีการหาเสียงนโยบายนี้ ต้องมาดูว่าประชาชนผู้เสียภาษีจะมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายมากขนาดไหน” นายอมรเทพ กล่าว

สำหรับการให้เงินสวัสดิการแก่ผู้มีรายได้น้อย 500 บาท เป็นมาตรการที่ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจมากกว่าการ กระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะจำนวนเงินต่อคนไม่มากพอ ประกอบกับคนมีภาระหนี้สูง กระตุ้นการบริโภคได้จำกัด แต่ที่สำคัญคือ ความยั่งยืน เพราะให้เงินก็ช่วยได้เพียงระยะเดียว ส่วนตัวมองว่า ควรมีนโยบายส่งเสริมการจ้างงานหรือสร้างอาชีพด้วย จะยั่งยืนกว่า

นายอมรเทพ กล่าวว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นหนึ่งในปัจจัยความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยปี 2562 ซึ่งแม้จะมีความชัดเจนมากขึ้นว่าไทยจะเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2562 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ปกติที่ผ่านมาเม็ดเงินลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) จากต่างชาติ จะทยอยเข้ามาลงทุนก่อนมีการเลือกตั้ง แต่ครั้งนี้ต่างชาติยังคงชะลอการลงทุนเพื่อรอผลการเลือกตั้งที่ชัดเจน เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้มีกติกาใหม่ที่ต้องทำความเข้าใจ หากพรรคที่จัดตั้งรัฐบาลมาจากเสียงข้างน้อยกลายเป็นความเสี่ยงจากเสถียรภาพรัฐบาล และความคล่องตัวในการทำนโยบาย เช่น กฎหมายงบประมาณ หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ จะผ่านได้หรือไม่ ซึ่งนักลงทุนจะรอผลการเลือกตั้งก่อนตัดสินใจลงทุนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภารกิจของรัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะเป็นพรรคใด ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน