posttoday

"มาร์ค"ชี้แก้ปัญหาเศรษฐกิจต้องหลุดจากกรอบความคิดเดิม

06 ธันวาคม 2561

"อภิสิทธิ์"ย้ำแก้เศรษฐกิจต้องหลุดกรอบความคิดเดิมและเข้าใจโครงสร้างพื้นฐาน ด้าน "จาตุรนต์" ซัดนโยบายรัฐไม่กระตุ้นแต่กลับซ้ำเติม

"อภิสิทธิ์"ย้ำแก้เศรษฐกิจต้องหลุดกรอบความคิดเดิมและเข้าใจโครงสร้างพื้นฐาน ด้าน "จาตุรนต์" ซัดนโยบายรัฐไม่กระตุ้นแต่กลับซ้ำเติม

เมื่อวันที่6 ธ.ค. มหาวิทยาลัยรังสิต มูลนิธิปรีดีพนมยงค์ ร่วมกันจัดสัมมนาทางวิชาการประจำปีคณะเศรษฐศาสตร์ ครั้งที่ 12 เรื่อง “การปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจ ภายใต้รัฐบาลเลือกตั้ง” ณ ห้อง 11-101 ชั้น 1 อาคารรัตนคุณากร ตึก 11 โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าต่างๆเข้าร่วมจำนวนมาก

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ภาพรวมของปัญหาเศรษฐกิจมันเกิดทั่วโลก เศรษฐกิจทุกประเทศเผชิญความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ประการแรก เทคโนโลยีเข้ามาสร้างความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ ประการสอง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้หลายประเทศพบปัญหาความเหลื่อมล้ำ ส่วนไทยเผชิญปัญหาอื่นๆ เช่น ความถดถอยทางการเมือง และกำลังก้าวเข้าสู้สังคมสูงวัย

ทั้งนี้ ปัญหาเศรษฐกิจไทยอัตราเติบโตต่ำกว่าควรจะเป็น เพราะสูญเสียขีดความสามารถ ความเหลื่อล้ำมากขึ้น คำถามเกิดขึ้นรุนแรงช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ปัญหามาจากอะไร คือ ผู้บริหารปรับแนวความคิดตัวเองในแนวเศรษฐกิจไม่ทันความเปลี่ยนแปลง ยังอยู่อำนาจนิยม ศูนย์รวมอำนาจ รัฐเป็นศูนย์รวมทุกอย่าง สงบเรียบร้อยทุกมิติ

“เมื่อมีแนวคิดไม่เข้าใจเศรษฐกิจ จนกลายเป็นปัญหาหลายอย่าง แม้ขณะนี้รัฐพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจและใช้งบมากกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ทำไมไม่เป็นผล เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เงินทั้งหมดที่ส่งไป บังคับใช้ในร้านธงฟ้าประชารัฐ สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่สะดวก เงินทั้งหลายไม่ออกมาหมุนเวียน แต่เงินกลับไปร้านค้าที่รัฐกำหนด เมื่อไม่เข้าใจบริบทกลับกลายเป็นการกระจุกตัวในชุมชนและไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ”นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ แนวคิดที่อยู่ยุคเก่าอนุรักษ์นิยม ไม่สดคล้องกับเศรษฐกิจสมัยใหม่ ที่ต้องใช้เสรีภาพทางความความคิด แต่กลับไม่เปิด สุดท้ายเกิดปัญหายากจน เหลื่อมล้ำ ส่วนการปฏิรูปไม่มีหลักคิดวิสัยทัศน์พื้นฐานตั้งแต่ต้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องเริ่มตั้งแต่พื้นฐาน เป็นสภาพปัญหาที่เผชิญอยู่และหลังเลือกตั้ง ดังนั้น พรรคการเมืองต้องมีวิสัยทัศน์ชัดเจนในการนำพาให้หลุดพ้นเหล่านี้ ต้องยอมรับทุกปัญหาเชื่อมโยงกัน มีหลักการที่ชัดในเรื่องเศรษฐกิจ การปฏิรูปจะจัดการอย่างไร ซึ่งการเลือกตั้งเป็นการแข่งขันทางความคิด ดังนั้น ควรเปิดให้ประชาชนตัดสินใจ

ด้าน นายจาตุรนต์ ฉายแสง พรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า ถ้าดูการดำเนินนโยบายช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา จะรู้สึกว่าไม่พบการปฏิรูปใดๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจพบว่ายังเสียโอกาส ศักยภาพประเทศถอยหลัง มีปัญหาเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น แม้จะคุ้นเคยคำว่าเศรษฐกิจไทยโตขึ้น 1-4% และได้ยินเสียงวิจารณ์ความเดือดร้อน 3-4% ไม่มีเงินในกระเป๋า ไม่มีรายได้ เพราะมันเกิดสภาพรวยกระจุก จนกระจาย

“ถ้าดูตัวเลขการเติบโตจริงๆ ของเศรษฐกิจไทย โตเป็นอันดับเกือบต่ำสุดอาเซียน และปี 14 -17 เศรษฐกิจไทยโตเพียง 2.8% ขณะเพื่อนบ้าน 6-7% ยกเว้นบรูไนที่โตหลังไทย ขีดความสามารถการแข่งขันไทยย่ำอยู่กับที่ จากอันดับ 37 เป็นอันดับ 38 ความเหลื่อมล้ำความมั่งคั่งทางทรัพย์สินไทยเป็นอันดับหนึ่งของโลก สิ่งต่างๆเหล่านี้ ไม่มีการปฏิรูปชัดเจน ทั้งการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เสียทั้งการส่งออก การใช้งบประมาณ หลายมาตรการซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ และเศรษฐกิจโตช้า”นายจาตุรนต์ ระบุ

นอกจากนี้ นโยบายช็อปช่วยชาติ แม้กระตุ้นการจ่ายเงิน แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ได้ประโยชน์ คนจ่ายเงินไม่ได้รวยมาก ต้องการออมด้วยซ้ำ เป็นมาตรการไม่ได้ส่งเสริมให้คนคิดหารายได้ส่งเสริมอาชีพ การท่องเที่ยวเป็นจักรสำคัญให้เศรษฐกิจไทยโตได้ช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้ทำให้ยั่งยืนมีคุณภาพ

ขณะเดียวกัน โอนเงินงบประมาณเป็นงบกลางใช้ตามใจชอบจนเสียระบบ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานล่าช้า โครงการขนาดใหญ่มีปัญหาเรื่องการประมูล เช่นเดียวกับโครงการประชารัฐ ธุรกิจใหญ่ได้ง่ายที่ทำงานร่วมกับรัฐ ทั้งหมดกลายเป็นการบริหารทำให้รายใหญ่ได้ประโยชน์ จนเกิดความเหลื่อมล้ำ การเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร สำคัญต่อเศรษฐกิจสมัยใหม่ เศรษฐกิจดิจิตอลสำคัญต่อโลกปัจจุบัน แต่ไทยยังช้ามาก แต่จะเก็บภาษี โดยไม่เข้าใจความสำคัญของโครงสร้าง

ขณะที่ นายศิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ผลโพลล่าสุดประชาชนอยากให้พรรคออกนโยบายแก้ไข ดูแลช่วยเหลือเกษตรกร ปลดหนี้ ความยากจน 47% เน้นการค้าท่องเที่ยวสร้างรายได้ 45% พูดจริงทำจริงพัฒนาจังหวัดและท้อถิ่น 33% ระบบขนส่ง การศึกษา พลังงาน 28% จะเห็นได้ว่าปัญหา 4 อย่าง คู่กับประเทศไทยมาโดยตลอด

“เราพยายามหลายครั้งในการแก้ปัญหา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นการแก้ระยะสั้นตั้งแต่รัฐบาลในอดีต เรามักมีคำถามชาวนาขายข้าวเปลือกถูก แต่กลับซื้อข้าวสารแพง ส่วนเกษตรกรต่างประเทศร่ำรวย แต่ไทยจนซ้ำซ้อน หากเกษตรกรยากจนไม่เปลี่ยนทำอาชีพอื่น ซึ่งเปลี่ยนไม่ได้เพราะเป็นวิถีชีวิต แต่พืชผลที่รัฐให้การสนับสนุนมีปัญหามากในเรื่องการควบคุมปริมาณหรือคาดการณ์ได้ ก็เป็นอีกปัญหาทางภาคเกษตร”นายศิริพงศ์ กล่าว

ส่วนเรื่องการท่องเที่ยว อยากให้มีการท่องเที่ยวชุมชน ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา แต่เมื่อเข้ามาถามว่ารองรับไหวหรือไม่ แค่เพียงบางเมืองเท่านั้น โดยเฉพาะเมืองที่พร้อมก็จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจับจ่าย แต่เมืองรองและเมืองเล็กไม่ได้รับการเหลียวแล ซึ่งการบริหารภาครัฐในอดีตที่ผ่านมา ใช้ความคุ้มค่ามากกว่าให้โอกาส เห็นได้จากภาษีมรดก ไม่เห็นคนรวยได้รับความเดือดร้อน แต่ที่เห็น คือ พ่อแม่เสียต้องขายมรดก เพราะไม่มีเงินเสียภาษี ภาษีที่ดิน คนรวยก็ยังรวย คนรับภาระคือชั้นกลางและชั้นล่าง กฎหมายไทยตลก รังแกคนขยันและอดออม