posttoday

"ภูมิใจไทย"เสนอแก้การศึกษาไปสู่ระบบออนไลน์เพื่อเข้าถึงทุกภาคส่วน

02 ธันวาคม 2561

พรรคภูมิใจไทยเสนอแก้ปัญหาการศึกษาไทยด้วยการเปิดช่องทางให้เข้าถึงการศึกษาผ่านออนไลน์เพิ่มทางเลือกให้สังคม

พรรคภูมิใจไทยเสนอแก้ปัญหาการศึกษาไทยด้วยการเปิดช่องทางให้เข้าถึงการศึกษาผ่านออนไลน์เพิ่มทางเลือกให้สังคม

นายพะโยม ชิณวงศ์ ทีมยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย กล่าวในการเข้าร่วมการเสวนาเรื่อง “ชวนพรรคร่วมคิด พลิกห้องเรียน เปลี่ยนทันโลก” ที่ จัดโดย สถาบันทีดีอาร์ไอ ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร ว่า หัวข้อการปฏิรูปการศึกษาจะแตกหักอยู่ที่ห้องเรียน แต่อยากจะเพิ่มเติมว่า การปฏิรูปการศึกษาแตกหักอยู่ที่ตัวผู้เรียน เพราะสิ่งที่ท้าทายการศึกษามีเยอะมาก ซึ่งในขณะนี้กลุ่มเป้าหมายทั้งเด็กก่อนวัยเรียน การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวะศึกษา และอุดมศึกษา เป็นทั้งในระบบ และนอกระบบ

“ทุกคนกำลังใฝ่หาเรื่องการศึกษา เช่นคนที่อยู่ในสถานประกอบการ 22 – 25 ล้านคน เกษตรกร ที่ทำการเกษตร ซึ่งน่าสนใจว่าเกษตรกรปัจจุบันนี้ ใช้โทรศัพท์มือถือ ค้นหาข้อมูลต่างๆในสิ่งที่เขาอยากจะทำ เช่นปลูกทุเรียน หรือปลูกอะไร เขาก็จะหาความรู้ จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ เราจะช่วยเขาได้อย่างไร จะทำอย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ เข้าถึงการศึกษาได้ รวมถึงเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพการบริหารจัดการ”นายพะโยม กล่าว

อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีโรงเรียนนวัตกรรม เกิดขึ้นมากมาย แต่จะทำอย่างไรมาสร้างความต่อเนื่อง ให้เชื่อมโยงกัน หรือ มาแชร์ กระจายความรู้และข้อมูล ซึ่งน่าจะมีสถาบัน หรือ ศูนย์อะไรที่ทำให้เกิดการ Sharing เท่าที่คิด คือ จะต้องมีศูนย์ Thailand Sharing University ให้เป็นส่วนหนึ่งในเรื่องการจัดการศึกษากับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ

ขณะเดียวกัน ต้องมีการศึกษากระแสหลัก ที่ทำมานาน และการศึกษาทางเลือก หรือการศึกษานอกระบบ ตามอัธยาศัย ทำอย่างไรให้ผู้ปกครองเข้ามามีบทบาท กับบุตรหลานตนเองในรูปแบบ โฮมสคูล โดยมีสังคมสถาบันครอบครัวดูแล เพราะบางครั้งโรงเรียนเป็นตัวสร้างปัญหา ดังนั้น จะทำอย่างไรที่จะให้เด็กได้รับโอกาสมากที่สุด ต้องยึดหลักกระแสการศึกษาทางเลือกให้มากขึ้น จัดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน

นายพะโยม กล่าวต่อว่า ในต่างจังหวัด กระแสการศึกษาทางเลือก กำลังถูกถามมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอีกไม่นานจะถูกจุดเป็นกระแสขึ้นมา ดังนั้น การเข้าถึงการศึกษาให้กับกลุ่มคนพวกนี้ ด้วยการศึกษาออนไลน์ ซึ่งเป็นทางออก ที่สำคัญต้องให้ครูมีระบบการประเมินผลด้วยรูปแบบใหม่ แต่อย่าลืมรูปแบบเก่าที่เชื่อมโยงกับการกระจายอำนาจ ต้องขึ้นมาจากข้างล่างทำให้เป็นรูปธรรม โดยให้ท้องถิ่นเป็นคนคิดขึ้นมาไม่ใช่เอามาจากส่วนกลาง หรือให้ท้องถิ่นเสนอกรอบทั้งเรื่องงบประมาณ เรื่องหลักสูตร แล้วให้รัฐบาลเป็นคนอนุมัติ