posttoday

"บิ๊กตู่"พบภาคเอกชนเยอรมันชวนลงทุนในไทย

29 พฤศจิกายน 2561

นายกรัฐมนตรีพบภาคเอกชนเยอรมัน ชวนลงทุนในไทย พร้อมยืนยัน มีการเลือกตั้งปีหน้า

นายกรัฐมนตรีพบภาคเอกชนเยอรมัน ชวนลงทุนในไทย พร้อมยืนยัน มีการเลือกตั้งปีหน้า

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ตามเวลาท้องถิ่น พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงาน Thai-German Business Forum : Asia-Europe Partnership for the Future ณ โรงแรม Hilton เบอร์ลิน โดยนายกรัฐมนตรีย้ำถึงความสำคัญของเยอรมนี หุ้นส่วนสำคัญของไทยในยุโรปโดยไทยและเยอรมนีมีความสำพันธ์ระหว่างกันมายาวนานถึง 156 ปีเยอรมนีเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยใน EU เป็นประเทศผู้ลงทุนลำดับต้นต้นของไทย ลงทุนในไทยกว่า 866 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 28,649 ล้านบาท มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมยกระดับศักยภาพทางการผลิตของไทยมาโดยตลอด รัฐบาลไทยประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคงโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาและยกระดับบุคลากรซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความสำเร็จของแนวคิดอุตสาหกรรม 4.0 ของเยอรมนี

นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนนักลงทุนภาคเอกชนเยอรมนีร่วมลงทุนในไทยตามแนวนโยบายของรัฐบาลในการเดินหน้าขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีโดยเป็นยุทธศาสตร์ที่ให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานมีเป้าหมายให้ไทยเป็นระเบียงเศรษฐกิจแห่งเอเชียโดยเฉพาะการเชื่อมโยงการคมนาคมและขนส่งอย่างไรรอยต่อภายในกลุ่มประเทศอาเซียนบนภาคพื้นทวีปและจะเชื่อมโยงไปสู่เอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ในอนาคตอีกทั้งประเทศไทยได้ปฏิรูปกฎหมายและปรับปรุง กฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้การดำเนินธุรกิจ ตลอดจนลดขั้นตอนการขออนุญาตในการลงทุนในไทยจนเห็นผลในการจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจของธนาคารโลกปี 2562 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 30 จาก 190 ประเทศ

อีกทั้งโอกาสที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 ไทยพร้อมจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางมองไปสู่อนาคตร่วมกัน ปัจจุบันอาเซียนมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับหกของโลกและมีเสถียรภาพจะก้าวไปสู่เศรษฐกิจอันดับ4 ของโลกในปี 2573 อาเซียนเป็นตลาดขนาดใหญ่มีประชากร 650 ล้านคน มีโครงการที่มีศักยภาพพร้อมรองรับการลงทุน เช่น EEC และมีนโยบายไทยแลนด์+1 สนับสนุนให้เอกชนจากมิตรประเทศ ใช้ไทยเป็นฐานในการขยายโอกาส ลู่ทางการค้า การลงทุน จากประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยจะสนับสนุนให้เอกชนไทยดำเนินนโยบาย Germany+1 ใช้เยอรมนี เป็นฐานการขยายโอกาสลู่ทางการลงทุนในกลุ่ม EU และภูมิภาคยุโรปเช่นกัน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือกับผู้บริหารภาคเอกชนเยอรมนี ได้แก่ บริษัท เดมเลอร์ จำกัด, บริษัท แดร็คเซิลไมเออร์ กรุ๊ป, สมาคมอุตสาหกรรมรางในเยอรมนี (Verband Deutsche Bahnindustrie: VDB) และบริษัท บีเอ็มดับเบิลยู จำกัด

โดยนายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้สร้างความเชื่อมั่นต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมืองของไทยที่จะมีการเลือกตั้งในต้นปีหน้า ไทยพร้อมสนับสนุนความร่วมมือและการขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์สูงสุดของทั้งสองฝ่าย โดยรัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศเชื่อมั่นในศักยภาพ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของบริษัท ยินดีและพร้อมจะให้การสนับสนุนการขยายการลงทุนของบริษัทในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันความนิยมต่อรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าของไทยมีเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้บริหารเดมเลอร์ชื่นชมรัฐบาลไทยในการบริหารจัดการอำนวยความสะดวกต่อนักลงทุนต่างชาติ โดยบริษัทให้คำมั่นพร้อมลงทุนในระยะยาวและยินดีให้การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานไทย

นอกจากนี้ รัฐบาลพร้อมที่จะให้การสนับสนุน ดูแลบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในประเทศไทย และขอได้แจ้งให้ทราบว่าการพิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทยได้รับการอนุมัติแล้ว