posttoday

ภท.ชูสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ให้คนไทย เพิ่มทักษะรับความเปลี่ยนแปลง

28 พฤศจิกายน 2561

โฆษกภูมิใจไทยหนุนเทคโนโลยีรับเปลี่ยนแปลงศตวรรษที่21 ย้ำต้องสร้างทักษะใหม่ให้คนรุ่นเก่าเพื่อตอบโจทย์การทำงานยุคใหม่

โฆษกภูมิใจไทยหนุนเทคโนโลยีรับเปลี่ยนแปลงศตวรรษที่21 ย้ำต้องสร้างทักษะใหม่ให้คนรุ่นเก่าเพื่อตอบโจทย์การทำงานยุคใหม่

พ.อ. ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล และโฆษกพรรคภูมิใจไทย ได้ร่วมงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “การเมืองไทยกับการสร้างคนไทย ศตวรรษที่ 21” ณ Convention Hall อาคารศูนย์การเรียนรู้ ชั้น 2 ไทยพีบีเอส โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า พรรคภูมิใจไทยนำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ได้จัดทีมยุทธศสตร์ เพื่อวางแนวทาง “การสร้างคนไทยศตวรรษที่ 21” เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าด้วยอัตราเร่ง

ทั้งนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี จึงทำให้รูปแบบการทำงานและอาชีพต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนจะทำให้แรงงานแบบดั้งเดิมไม่สามารถทำงานร่วมกับเครื่องจักรแบบอัตโนมัติและ AI ได้ ซึ่งเห็นได้จากงานวิจัยเรื่อง “Technology and the Future of ASEAN Jobs” โดย Cisco ร่วมมือกับ Oxford Economics ในการศึกษาถึงผลกระทบจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่อแรงงานในกลุ่มประเทศ ASEAN-6 ซึ่งได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน

“การศึกษาพบว่า ประชากรใน ASEAN ทั้งหมดที่มีประมาณ 630 ล้านคนนั้น ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งถือเป็นความได้เปรียบทางการแข่งขันสำหรับภาคการผลิตในระดับนานาชาติ โดยอิทธิพลของการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (digital transformation) ยังหมายถึง แรงงานจำนวนมากในภูมิภาคนี้อาจจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านทักษะใหม่ๆอย่างมาก”โฆษกพรรค กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาดังกล่าวพบอีกด้วยว่า ภายในปี 2028 ตำแหน่งงานทั้งหมดจะมีความแตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก เนื่องจากตำแหน่งงานที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่นั้น แตกต่างไปจากตำแหน่งงานเดิมและอาจต้องมีบางตำแหน่งงานที่หายไป โดยมีข้อสังเกตว่าจะมีแรงงานในภาคการเกษตรที่อาจจะต้องว่างงานถึง 5.7 ล้านคน ภายในปี 2028 ในกลุ่มประเทศ ASEAN-6 และภายในปี 2028 ในภูมิภาคอาเซียนจะต้องการแรงงานแบบดั้งเดิมลดลงกว่า 28 ล้านตำแหน่ง ซึ่งมากกว่า 10% ของตำแหน่งงานใน ASEAN-6 ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ อีกประเด็นสำคัญคือการเกิดขึ้นของ ระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน หรือ Sharing economy เป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ดำเนินการบน digital platform ซึ่งเริ่มเข้ามาส่งผลกระทบต่อตลาดแบบดั้งเดิม ที่จำเป็นต้องมีการพัฒนาทักษะของแรงงานที่จะต้องตอบรับการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปันทำให้รูปแบบอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไป และทำให้มีการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดโอกาสในการเพิ่มตำแหน่งงานได้อย่างมหาศาล โดยบริการที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ก็คือ Grab ที่เป็นระบบการขับขี่รถยนต์ร่วมกัน และ Airbnb ที่ให้บริการที่พัก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ยังขยายไปสู่ในภาคส่วนการเงิน เครื่องมือเครื่องใช้ในบ้าน การลงทุน และงานประจำวันมากขึ้น

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวด้วยว่า ความท้าทายของระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ก็คือกฎระเบียบของรัฐบาลที่อุตสาหกรรมต่างๆ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ถูกบัญญัติในแบบดั้งเดิม ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ท้าทายอย่างมาก โดยผลเสียที่เกิดจากการออกกฎหมายและกฎระเบียบที่รัดกุมมากเกินไปและไม่มีความยืดหยุ่น จะเป็นการขัดขวางการพัฒนาเทคโนโลยี จนไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการค้าขายรูปแบบใหม่เท่าที่ควร และยังเป็นการยับยั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่อีกด้วย

ขณะเดียวกัน รัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลจึงควรมีการออกแบบแนวทางใหม่ๆ ให้ยืดหยุ่นมากขึ้นในด้านกฎระเบียบและการกำกับดูแล ที่จะกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปันได้ โดยหน่วยงานกำกับดูแลควรกระตุ้นและส่งเสริมแบบ bottom-up และเปิดให้มีการควบคุมตนเอง (Self-regulation) มากกว่าที่จะมีการควบคุมจากรัฐบาลแบบ top-down ด้วยการหลีกเลี่ยงกรอบการกำกับดูแลเฉพาะอุตสาหกรรม และควรลดกฎระเบียบที่ทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันได้ยาก โดยผู้จ้างงานอิสระอาจจะไม่ต้องการข้อจำกัดที่มากเกินไปของกฎหมายการจ้างงาน

โฆษกพรรค กล่าวต่อว่า ในประเด็นการพัฒนาทักษะของแรงงาน ซึ่ง World Economic Forum ได้มีข้อแนะนำว่า การที่จะเตรียมคนทักษะใหม่ๆ ที่ตอบความต้องการของแรงงานในศตวรรษที่ 21 ได้นั้น นโยบายของประเทศที่ผ่านระบบการเมืองการปกครองจะต้องมีความเข้าใจในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยได้สรุป 4 ประเด็นสำคัญยิ่ง (critical areas) ที่จะต้องทำการพัฒนา คือ

(1) การร่วมมือกันและทำงานเป็นทีม (Collaboration and teamwork)

(2) ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ (Creativity and imagination)

(3) การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking)

(4) ความสามารถในการแก้ปัญหา (Problem solving)

“จากทั้ง 4 ประเด็นสำคัญยิ่งดังกล่าว จึงทำให้การศึกษายุคใหม่นั้น ไม่เพียงแต่ต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่แรงงานใหม่จำเป็นต้องรู้วิธีการเรียนรู้ (Learning skill) ที่ถูกต้องและมี Mindset ที่เหมาะสมที่จะต้องรู้วิธีการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Learn how to learn) โดยพ่อแม่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้มากขึ้น ครูต้องเปลี่ยนบทบาทจาก Lecturer เป็น Facilitator ในขณะที่โรงเรียนและหลักสูตรต้องมีการปรับตัวและเปิดโอกาสให้มีการสร้างหลักสูตรใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว”พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

นอกจากนี้ จากการวิจัยของ World Economic Forum (WEF) พบว่าทักษะที่จำเป็นอย่างมากในศตวรรษที่ 21 ที่เพิ่มเติมออกมาอย่างเห็นได้ชัดคือ “ทักษะการเข้าสังคมและอารมณ์ (Social & Emotional Skills)” นั่นเอง เนื่องจากมีแนวโน้มว่า อาชีพที่ต้องใช้ social skill มีจำนวนเพิ่มขึ้นและมีความต้องการมากขึ้น ในขณะที่อาชีพที่ไม่ใช้ social skill ได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผลการวิจัยยังบอกอีกว่า 65% ของเด็กที่เรียนอยู่ในขณะนี้จะต้องทำงานในอาชีพที่ปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้น ความหมายก็คือ การเรียนในปัจจุบันอาจไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของอาชีพที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้

ด้วยเหตุนี้เองวิธีการเรียนการสอนในห้องเรียนแบบดั้งเดิมที่มีครูเป็นผู้สอนอยู่ฝ่ายเดียว จึงไม่ตอบโจทย์โลกอนาคตอีกต่อไป ดังนั้น บทบาทของครูที่เป็น “ผู้ถ่ายทอดความรู้”(Lecturer) จึงต้องถูกเปลี่ยนเป็น “ผู้สร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้” (Facilitator) โดยหน้าที่ของครูนั้นจะไม่ใช่การแค่มาสอนในห้องเรียนอีกต่อไป แต่จำเป็นต้องใช้กระบวนการที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนผ่านการลงมือทำจริง โดยครูเป็นผู้ให้คำแนะนำและแนะแนวทางในวิธีการเรียนรู้ และแนะนำวิธีการวิเคราะห์แทนการสอนแบบเดิมๆ คือการสอนแบบ Learn how to learn

อย่างไรก็ดี จะต้องสร้างวัฒธรรมการเรียนรู้ใหม่ให้กับคนไทย เด็กไทยยุคใหม่จะอยู่นิ่งและปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามระบบที่สร้างไว้เดิมไม่ได้อีกต่อไป เพราะระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่ได้พัฒนาให้ทันโลกได้เร็วพอ เด็กเองจึงต้องตั้งคำถามกับตัวเองให้มากขึ้นและบ่อยขึ้น ว่าตัวเองชอบอะไร ถนัดอะไร อยากจะมีชีวิตแบบไหน และจะต้องเรียนรู้ที่จะเรียนด้วยตัวเอง (Learn how to Learn) วิเคราะห์และตอบตัวเองให้ได้ว่าทักษะไหนในศตวรรษที่ 21 ที่ตัวเองขาดอยู่ และต้องออกจาก Comfort Zone ของตัวเองเพื่อไปเติมทักษะเหล่านั้นให้เต็ม


สำหรับสถาบันการศึกษาทุกระดับ ก็จะต้องเปลี่ยนนโยบายและหลักสูตรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกเช่นกัน เช่น การเปิดกว้างต่อความรู้ใหม่ๆ, หลักสูตรการเรียนรู้ที่วัดผลทักษะผ่านการทำกิจกรรม ที่ไม่ได้วัดด้วยการสอบ เพราะการสอบวัดได้แค่ความรู้เพียงอย่างเดียว อีกทั้งหลักสูตรผลิตบุคลากรครูที่จะช่วยเติมทักษะของการเป็น Facilitator นั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยเติมเต็มทักษะในศตวรรษที่ 21 เข้าไปในหลักสูตรได้อย่างรวดเร็ว

ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวของประเทศไทย สามารถทำได้ด้วยวิธีการที่ดีที่สุด รวดเร็วที่สุด และลงทุนน้อยที่สุดด้วยการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ทางออนไลน์ ที่ง่ายดาย ทันสมัย และฟรี เพียงใช้นิ้วสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นใคร อายุเท่าไร อยู่ที่ใด และเวลาใดก็ตาม โดยพรรคภูมิใจไทยได้เสนอแนวคิด Thailand Sharing University ซึ่งเป็นการศึกษาผ่านระบบออนไลน์ที่สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และสามารถเปิดโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนคนไทยทุกคน ซึ่งสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ในที่สุด