posttoday

พปชร."ทำแล้วทำต่อ" ชูโมเดลสิงคโปร์ นโยบายต่อเนื่อง ประเทศพัฒนา

25 พฤศจิกายน 2561

เปิดใจ "สุรพร ดนัยตั้งตระกูล" หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ที่ชูการสานต่อนโยบายอย่างต่อเนื่อง

เปิดใจ "สุรพร ดนัยตั้งตระกูล" หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ที่ชูแนวคิดการสานต่อนโยบายอย่างต่อเนื่อง

*********************************

โดย...ปริญญา ชูเลขา

หนึ่งในนักการเมืองผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) “สุรพร ดนัยตั้งตระกูล” อดีต สส.ร้อยเอ็ด กรรมการบริหารพรรคเป็นนักการเมืองระดับนโยบาย มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อพี่น้องประชาชนทุกระดับ เปิดโอกาสให้หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์สัมภาษณ์พิเศษ ถึงทิศทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้

สุรพร เปิดบทสนทนาด้วยการชี้แจงว่า ที่ผ่านมาไม่มีพรรคการเมืองใดให้ความสำคัญกับการบริหารงานแบบต่อเนื่อง ทั้งที่พรรคการเมืองทั่วไปเอาแต่พูดว่า อยากเป็นรัฐบาลต่อเนื่อง พรรคพลังประชารัฐเห็นว่า เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วก็ต้องสานต่อคือ “ทำแล้วอยากทำต่อ” โดยไม่สนใจว่านโยบายที่ได้ทำไปแล้วจะเป็นของพรรคใด ไม่ว่าจะเป็นของคู่แข่งหรือของเราเอง ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่านโยบาย 30 บาท เป็นนโยบายที่ดีจึงได้ทำต่อและบูรณาการให้พัฒนาขึ้นไปอีก นี่คือ การทำต่อ

สุรพร ฉายภาพว่า ตั้งแต่อดีตประเทศไทยเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยมาก จำได้สมัยเรียนปริญญาตรี ประเทศไทยแข่งกับสิงคโปร์ แต่เมื่อเรียนจบ ไทยกลับต้องมาแข่งกับมาเลเซีย เพราะสิงคโปร์ล้ำหน้าไปไกล มาวันนี้ไทยแข่งกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะการศึกษาไทยล้าหลัง และเศรษฐกิจสู้เพื่อนบ้านไม่ได้ เช่น เวียดนาม ถามว่าเพราะอะไร คำตอบคือ ไม่มีความต่อเนื่อง

“รัฐบาลนี้ให้โอกาสทางการศึกษา ระบบการสื่อสาร 4.0 อินเทอร์เน็ตประชารัฐ ที่เป็นถนนแห่งความรู้ เกิดขึ้นโดยรัฐบาลชุดนี้เพื่อสร้างปัญญาให้แก่ประชาชนด้วยเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ไปยังพื้นที่ห่างไกล หรือแม้แต่ศาสนาก็มีการจัดระเบียบ ไม่ให้บุคคลใดมีอำนาจหรืออิทธิพลเหนือสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี นับเป็นการปรับโครงสร้าง ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่ คือ การต่อยอด ในการร่วมกันคิดสร้างสรรค์ร่วมกัน”

พปชร."ทำแล้วทำต่อ" ชูโมเดลสิงคโปร์ นโยบายต่อเนื่อง ประเทศพัฒนา

สุรพร กล่าวว่า พรรคมีแนวคิด อยากเป็นเหมือนรัฐบาลสิงคโปร์ ประเทศพัฒนาได้เพราะมี “ลีกวนยิว” เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อเนื่องด้วย “โก๊ะจ๊กตง” เป็นรัฐบาลที่ต่อเนื่อง และบริหารกฎหมาย อำนาจรัฐเด็ดขาด แม้จะไม่ใช่ประเทศเผด็จการหรือสังคมนิยม แต่เป็นประเทศเสรีนิยมเต็มรูปแบบด้วยซ้ำ กล่าวคือด้วยความต่อเนื่องและความเข้มแข็งของกฎหมาย คือ เหตุผลสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจก้าวหน้าเช่นเดียวกับมาเลเซียหรือเวียดนาม หรือแม้แต่ลาว เป็นประเทศสังคมนิยมแท้ๆ ที่กำลังเป็นเสรีนิยม สำหรับประเทศที่ต่อเนื่องสูงสุดและบังคับใช้กฎหมายเด็ดขาด คือ จีน ตั้งแต่ “เหมาเจ๋อตง” ต่อด้วย “เติ้งเสี่ยวผิง” ต่อเนื่องด้วย “สีจิ้นผิง” ที่รับทราบดีว่ามีนโยบายปราบปรามคอร์รัปชั่นมีโทษประหาร

“การบริหารแบบจีน ทุกอย่างตูมๆ แนวคิดเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 คือ ความต่อเนื่องในการบริหาร แปลกไหมพรรคพลังประชารัฐจะนำความต่อเนื่อง นโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ใครมาก็ต้องทำตามกฎหมาย จะแตกต่างจากแผนพัฒนาฯ ที่ฉบับละ 5 ปี พรรคการเมืองใดเข้ามาไม่เคยอ่านแผนเลย คิดแต่จะทำนโยบายหาคะแนนอย่างเดียว”

สุรพร แจกแจงอีกว่า ในอดีตประเทศไทยมีงบประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท แต่วันนี้งบประมาณ 3 ล้านล้านบาท กล่าวคือการเปลี่ยนนโยบายบ่อยๆ เหมือนการสร้างบ้านแล้วรื้อทิ้งแล้วก็สร้างใหม่ สิ่งที่เป็นกระเบื้อง เหล็ก อิฐ หิน ปูนทรายก็สูญเปล่า เพราะการสร้างบ้านใหม่ไม่มีทางจะใช้เงินเท่าเดิม แต่ต้องใช้เงินมากขึ้นไปเรื่อยๆ เหมือนนโยบายที่ไม่ต่อเนื่อง จึงทำให้ประเทศล้าหลัง เช่นเดียวกับการสร้างวินัยคนในชาติก็ไม่ต่อเนื่อง

ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐจะทำความต่อเนื่อง และถ้าไม่อคติลองพิจารณาดูว่าสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ขณะนี้ 4 ปี ได้ก่อร่างโครงสร้างที่มั่นคงให้มากขึ้นเพียงใด ดังนั้นจะมาถามว่าวันนี้เศรษฐกิจเป็นอย่างไร จากการที่ทหารเข้ามายึดอำนาจ ขณะที่กว่ารัฐบาลทำให้สหรัฐหรือยุโรปให้การยอมรับ ด้วยการพิสูจน์ให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้เข้ามาด้วยเผด็จการ แต่ต้องการทำให้ประเทศสงบสุข ขนาดผู้บริหารระดับสูงของลาวยังถามผมว่าประเทศไทยเบื่อไหมที่ทะเลาะกันเอง
เชื่อไหมว่าลาวประสบเหตุการณ์สงครามกลางเมือง โดยรบกันในสมรภูมิ แต่ประเทศไทยสงครามการเมืองกลับรบกันกลางเมืองหลวงของประเทศ

“ลองคิดดูเศรษฐกิจก่อนที่รัฐบาลนี้เข้ามา ตั้งแต่วันที่ปิดสนามบิน เผาบ้านเผาเมืองคำสั่งซื้อสินค้าต่างประเทศติดลบ เศรษฐกิจยากลำบากมาก ความขัดแย้งทางการเมืองลามไปถึงครัวเรือน อยู่บ้านหลังเดียวกันยังทะเลาะกัน วันๆ รอฟังข่าวว่าลูกตัวเองไปชุมนุมจะโดนจับโดนยิงหรือตายหรือไม่ นี่คือจุดเริ่มต้นของรัฐบาลชุดนี้” สุรพร กล่าว

พปชร."ทำแล้วทำต่อ" ชูโมเดลสิงคโปร์ นโยบายต่อเนื่อง ประเทศพัฒนา

การเลือกตั้งครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่เกิดกระแสคนรุ่นใหม่สนใจลงสนามการเมืองอย่างมาก แต่ในมุมมองของ “สุรพร” มองว่าคนรุ่นใหม่เลือดเข้มข้นกว่าคนรุ่นเก่าจากความขัดแย้ง ปัญหาใหญ่ คือ พฤติกรรมของคนในชาติ ตอนนี้มีปัญหาการฟูมฟักความคิดความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อราวๆ 15 ปีก่อน ของคนรุ่นใหม่ที่ตอนนี้อายุ 20 กว่าปี มีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรก ซึ่งพวกเขาได้มีโอกาสเห็นความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ ในช่วงที่ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงมาก จึงเป็นแรงผลักดันให้คนเหล่านี้มีความคิดทางการเมืองของตัวเอง ที่เกิดในครอบครัวซีกหรือฝ่ายทางการเมืองฝ่ายไหนก็จะมีลักษณะทางพฤติกรรมทางการเมือง ซีกหรือฝ่ายการเมืองด้านนั้นๆ เพราะจากการกล่อมเกลาจากคนรุ่นก่อนของแต่ละกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองขณะนั้น แต่ถ้าไม่มี 4 ปี ณ วันนี้ เชื่อได้เลยว่าความขัดแย้งจะรุนแรงมากกว่านี้ และเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงอย่างมหาศาล เพราะเป็นความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่

“ถ้าไม่มี 4 ปีนี้ การแบ่งแยกทางการเมืองจะรุนแรงกว่านี้ เท่าที่เห็นมาความขัดแย้งทางการเมืองฆ่าฟันกันไม่กี่วันก็จบ แต่รอบนี้หนักที่สุด ทะเลาะกันร่วม 10 ปี แล้วมาทะเลาะกับ คสช.อีก 4 ปี เพราะคิดว่า คสช.แย่งอำนาจไปจากเขา ไม่ต้องเลือกตั้งแล้วมามีอำนาจได้อย่างไร แต่ลืมไปว่าพวกเขาอ้างประชาธิปไตยหรือเสรีภาพไปเผาบ้านเผาเมือง เพราะขัดแย้งทางความคิดไม่มีใครผิด แต่ความรุนแรงของความขัดแย้งนั้น คือ ผิด”

ในทัศนะของ “สุรพร” เห็นว่าวันนี้ไม่อาจเปลี่ยนสีหรือฝ่ายการเมืองแบ่งขั้วได้ แม้จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เปิดตัวว่าเป็นพรรคทางเลือกใหม่ พิจารณาได้จากการแสดงออกทางความคิด เพราะเลือดใหม่ของพรรคไหน คนรุ่นก่อนหรือคนรุ่นพ่อเคยแสดงความคิดทางการเมืองออกมาอย่างไร พอรุ่นลูกก็ยังแสดงออกเช่นนั้น ถ้าไม่แสดงออกเช่นนั้นก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนรุ่นเก่าหรือรุ่นพ่อให้เข้ามาเล่นการเมือง

สุรพร ฟันธงว่าปัจจัยในการชนะเลือกตั้งครั้งนี้ คือ การเลือกตั้งครั้งนี้เขตไหน กระแสพรรคดี และกระแสผู้สมัครดีจะชนะขาด เพราะลงคะแนนด้วยบัตรใบเดียว ส่งผลให้คะแนนปาร์ตี้ลิตส์ชัดเจน แต่ถ้าคะแนนพรรคกับผู้สมัครไม่ชัดเจนคะแนนจะกระจาย เช่น พื้นที่ภาคอีสาน ความรู้สึกต่อผู้สมัครกับพรรคสำคัญมาก เช่น ปี 2554 กระแสพรรคล้วนๆ เป็นตัวบ่งชี้ชัยชนะ เทคนิคการหาคะแนน และกระแสผู้สมัครน้อยมาก ดังนั้นผลการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพราะเหลือเวลาในการหาเสียงหรือชี้นำทางความคิดประชาชนได้น้อยมาก แต่สิ่งที่จะทำให้ชนะ คือ การชี้นำทางความคิดทางการเมือง หรือผลงานการทำงานรัฐบาลในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จะประสบผลสำเร็จหรือไม่

“เราจะได้เห็นพรรคที่เคยได้ สส.เป็นร้อยอาจได้แค่สิบ หรือเคยได้แค่สิบอาจได้ สส.หลักร้อย เพราะเชื่อว่าประชาชนจะเลือกว่าความแตกแยกทางการเมืองหรือความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา อยากจะกลับไปสู่จุดนั้นอีกหรือไม่” สุรพร กล่าว

พปชร."ทำแล้วทำต่อ" ชูโมเดลสิงคโปร์ นโยบายต่อเนื่อง ประเทศพัฒนา