posttoday

อัดนโยบายหนุนปลูกยางล้านไร่ปี47ทำล้นตลาดเสนอ4แนวทางเแก้ไขเร่งด่วน

23 พฤศจิกายน 2561

นายกฯเผยราคายางตกเพราะนโยบายปลูกยางพาราล้านไร่ตั้งแต่ปี47ทำล้นตลาดเสนอ4มาตรการเร่งด่วนโปรยยาหอมจะช่วยเหลือทั้งเจ้าของสวนยางและผู้รับจ้างกรีดยาง

นายกฯเผยราคายางตกเพราะนโยบายปลูกยางพาราล้านไร่ตั้งแต่ปี47ทำล้นตลาดเสนอ4มาตรการเร่งด่วนโปรยยาหอมจะช่วยเหลือทั้งเจ้าของสวนยางและผู้รับจ้างกรีดยาง

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตอนหนึ่งว่า ความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางอยากให้ทุกคนได้เข้าใจสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับตลาดยางพาราเสียก่อน นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว ที่ได้มีการสนับสนุนให้มีการปลูกยางพาราในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศนับล้านไร่ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นทั้ง ผู้ผลิต และผู้ส่งออกยางพารามากที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันราคายางพาราในประเทศ และในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่ประสบความเดือดร้อน มีรายได้ไม่เพียงพอ รัฐบาลก็จำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือ เช่น เดียวกับพืชเศรษฐกิจอื่นๆ โดยได้ทำการศึกษาข้อมูลพื้นฐานของปัญหา ที่มาของภาวะวิกฤติ ราคายางพาราและ แนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ จากข้อมูลและข้อเท็จจริงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหายางพาราต่อคณะกรรมการยางพารา และ คณะกรรมการนโยบายยางพาราธรรมชาติ ในระยะเร่งด่วนเพื่อจะทุเลาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาวพารา ดังนี้

1.การจัดทำโครงการเร่งด่วนพัฒนาอาชีพ เพื่อจะสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรชาวสวนยางและ เป็นรายครอบครัว เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ในระหว่างราคายางพาราตกต่ำ

2.การลดปริมาณการผลิตยางพาราโดยส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนต้นยางพาราที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป หรืออายุ 15 ปีที่มีต้นโทรม ให้น้ำยางน้อย ไม่คุ้มค่าไปปลูกพืชอื่นๆ รวมทั้งมีการสนับสนุนให้มีการปลูกพืชอื่น แซมในสวนยาง โดยอาจพิจารณาให้แรงจูงใจกับเกษตรกรมากกว่าปัจจุบัน เพื่อจะเร่งการตัดสินใจลดปริมาณการผลิตยาง โดยจะต้องทำควบคู่กับการให้แรงจูงใจกับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ที่ใช้ไม้ยางพาราในประเทศเป็นวัตถุดิบ หรือ ลดภาษีสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ไม้ยางพาราในประเทศเป็นวัตถุดิบ เพื่อจะเพิ่มอุปสงค์ไม้ยางพารา ให้สอดรับกับอุปทานที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น

3.เชิญชวนและเปิดรับสมัครเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการฝากน้ำยางไว้กับต้นยาง ช่วงราคาตกต่ำ หรืออาจจะช่วยกันหยุดกรีดยาง เป็นเวลา 1-2 เดือน อาจจะทำให้ยางพาราลดลงจากตลาดไปในทันที จำนวน 5 แสนตันต่อเดือน ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นราคายางพาราในตลาด เพราะการซื้อขายยางนั้น ใช้รูปแบบเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่มีการซื้อขายแบบส่งมอบสินค้า และซื้อขายล่วงหน้า มีสัญญาส่งมอบสินค้า เมื่อครบอายุสัญญา ซึ่งวิธีการหยุดกรีดยางนี้ หากสามารถควบคุมการหยุดกรีดได้จริง ก็จะมีผลต่อการราคายางพารา ให้สูงขึ้นมาก หากมีเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศ เห็นด้วย ร่วมมือกับมาตรการดังกล่าว และ สมัครเข้าร่วมโครงการ มากกว่า ร้อยละ 80 ของเกษตรกรชาวสวนยาง ทั่วประเทศ ก็จะได้ให้ กยท.ไปจัดทำโครงการ อันนี้ไม่ได้บังคับ เชิญชวนความสมัครใจของท่าน ถ้าถึง 80 % เราก็จะไปจัดทำโครงการเหล่านี้ ในการที่จะส่งเสริมอาชีพชาวสวนยางระหว่างโครงการเพื่อให้มีรายได้มาชดเชย ช่วงหยุดกรีดยางต่อไป

4.ขอความร่วมมือบริษัท หรือภาคเอกชน ที่มีธุรกิจแปรรูป หรือโรงงานอุตสาหกรรมผลิตล้อยางส่งขายในต่างประเทศ และภายในประเทศ  เพื่อจะขอให้เข้าร่วมรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนเปลี่ยนยางล้อรถยนต์ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางถนนในราคาถูก โดยให้ประชาชนได้สิทธินำใบเสร็จซื้อยางล้อรถยนต์ไปลดภาษีเงินได้บุคคล หรือนิติบุคคลประจำปี และ 5. ส่งเสริมและเร่งรัดการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น อย่างเร่งด่วน โดยส่งเสริมการใช้ยางพารา และ ผลิตภัณฑ์จากยางพารา ในทุกรูปแบบโดยเริ่มจากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐก่อน แล้วขยายไปสู่ตลาด หรืออุตสาหกรรมต่างๆ

ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น เป็นการดำเนินการในระยะเร่งด่วน เพื่อจะบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรเท่านั้น รัฐบาลยังคงสำรวจมาตรการใหม่ๆ ที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับวงการยางพาราของไทย สิ่งสำคัญที่สุดก็คือความเข้าใจในข้อมูลพื้นฐาน จะทำให้เกิดความร่วมมือ ที่เราจะร่วมกันทำ ดำเนินการต่อไปให้เป็นผลตามที่รัฐบาลแนะนำ เรื่องยางพารานี่ก็มีปัญหาอีกอันก็คือเราไม่ใช่มีเฉพาะเจ้าของยางพารา เรามีผู้กรีดยางอีกด้วย เพราะฉะนั้นเราต้องพิจารณาสัดส่วนในการที่จะช่วยเหลือทั้งเจ้าของสวนยางและผู้รับจ้างกรีดยางด้วย ซึ่งขณะนี้ได้มีการขึ้นทะเบียนไปแล้ว เราจะดูแลในส่วนนี้ได้.