posttoday

ภท.ขอแก้ระบบการศึกษาใหม่ให้เกิดความเท่าเทียม

22 พฤศจิกายน 2561

พรรคภูมิใจไทย เผย แนวคิด เรียนฟรีตลอดชีวิต เล็งแก้ระบบการศึกษาใหม่ให้เกิดความเท่าเทียม

พรรคภูมิใจไทย เผย แนวคิด เรียนฟรีตลอดชีวิต เล็งแก้ระบบการศึกษาใหม่ให้เกิดความเท่าเทียม

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงแนวคิดที่จะนำมาเป็นนโบาย เรียนฟรีตลอดชีวิต Thailand Sharing Universityว่า
การศึกษา คือ ปัจจัยสำคัญ ทำให้ประชาชนและประเทศพัฒนา พรรคภูมิใจไทยต้องการเห็นคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม นอกจากความเท่าเทียมแล้ว การศึกษาที่ได้รับต้องมีคุณภาพ และไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายกับประชาชน นอกจากนั้น จบมาแล้ว ต้องสอดคล้องกับตลาดงาน

ขณะที่ พ.อ. ดร.เศรษฐพงค์  มะลิสุวรรณ  โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ระบบการศึกษาต้องมีความทันสมัยและต้องเข้าถึงเยาวชน ในอดีตประเทศไทยกับประเทศเกาหลีใต้มีการพัฒนาพอกัน แต่วันนี้ (21พ.ย.) กลับพบว่าเกาหลีใต้พัฒนาไปไกลกว่าประเทศไทย เพราะประเทศไทยยังติดกับดักรายได้และความเป็นอยู่

“เราต้องหาทางออกจากกับดักดังกล่าว พรรคเห็นว่า เราต้องใช้การศึกษาเป็นทางรอดของชาติ จึงเกิดเป็นแนวคิด Thailand Sharing University หรือรูปแบบการศึกษา โดยนำระบบออนไลน์เข้ามาปรับใช้ เพื่อทำลายข้อจำกัดด้านเวลา และสถานที่ แนวคิดนี้ เกิดขึ้นแล้วที่ Stanford University  สหรัฐอเมริกา จนประสบความสำเร็จมากมาย” โฆษกพรรค ระบุ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีอีกหลายประเทศกำลังใช้นโยบายการเรียนผ่านเครือข่ายโทรคมนาคม ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการเดินนโยบายเช่นกัน ชัดเจนว่าเทคโนโลยี ได้เข้าถึงจุดที่กำลังตอบสนองการศึกษาได้เช่นกัน แต่รัฐต้องจริงจัง และจริงใจ ที่จะทำให้เกิดความเป็นรูปธรรม

ด้าน ดร.พะโยม ชิณวงศ์ คณะทำงานยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า การศึกษาของไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก โอกาสเข้าถึงการศึกษาของประชาชนไม่เท่ากัน นี่คือวิกฤติของชาติรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น ต้องมาบริหารจัดการการศึกษาให้มีประสิทธิภาพเข้าถึงประชาชนทุกคนโดยให้ความสำคัญกับการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ การเรียนออนไลน์คือทางออกของปัญหานี้ 

ดร.กมล รอดคล้าย อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า เทคโนโลยีของประเทศไทย พร้อมตอบสนองด้านการศึกษาแล้ว ถึงเวลาที่ต้องสร้างโอกาสการศึกษาให้กับผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่อยู่ห่างไกล ผู้ที่มีทุนทรัพย์จำกัด และยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การเรียนออนไลน์จะช่วยลดรายจ่ายทางการศึกษา อีกทั้งไม่ได้ล้มล้างระบบการศึกษาเดิมแต่เป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษามากกว่า 

“ในต่างประเทศ ล้วนนำ Online Education เข้ามาช่วยในการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่ประเทศในแถบตะวันออกกลางก็มีการใช้ระบบการเรียนการสอน ในรูปแบบนี้”ดร.กมล กล่าว

สำหรับประเทศไทย มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งใช้ระบบออนไลน์ เข้าพัฒนาการเรียนการสอน จัดการให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่พูดคุยเชิงวิชาการ มากกว่ามานั่งจดเลคเชอร์ แล้วให้นักเรียนหาความรู้จากระบบออนไลน์ อาทิ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งทางกระทรวงศึกษามีการรับรองหลักสูตรแล้ว  นอกจากนี้จำเป็นที่จะต้องมีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์ความรู้แห่งชาติ รองรับการเรียนผ่านระบบออนไลน์ หากภาครัฐบูรณาการเทคโนโลยีและกฎหมายที่มีอยู่ ดำเนินนโยบายอย่างเต็มที่ก็จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างมีระบบ