posttoday

ศาลรธน.เผยคำวินิจฉัยส่วนตนปมความเป็นรัฐมนตรีของ "ดอน ปรมัตถ์วินัย"

20 พฤศจิกายน 2561

ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลฯ ปมให้รมว.ต่างประเทศยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป

ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลฯ ปมให้รมว.ต่างประเทศยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป

สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 และต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสองหรือไม่

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของรมว.ต่างประเทศ ยังไม่สิ้นสุดลง โดยพบว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ที่เห็นว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน ยังไม่สิ้นสุดลง ประกอบด้วย นายชัช ชลวร, นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, นายนุรักษ์ มาประณีต,นายบุญส่ง กุลบุปผา, นายปัญญา อุดชาชน และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นเสียงข้างน้อย ที่เห็นว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน สิ้นสุดลงประกอบด้วย นายจรัญ ภักดีธนากุล, นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และนายวรวิทย์ กังศศิเทียม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุผลของตุลาการเสียงข้างมาก มองว่าการโอนหุ้นของนางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภรรยานายดอน ในบริษัทปานะวงศ์ จำกัด และบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที จำกัด ช่วงปลายเดือน เม.ย. 2560 ถือว่ามีผลสมบูรณ์และผูกพันบริษัท โดยรัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 จึงถือได้ว่านายดอนได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในวันเดียวกัน ดังนั้น การโอนหุ้นดังกล่าวจึงถือว่าทำภายใน 30 วันนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ และหุ้นที่เหลือของภรรยานายดอนใน 2 บริษัท ก็มีจำนวนที่ไม่เกินกว่ากำหนด

ทั้งนี้ การกระทำจึงไม่เป็นเรื่องต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน ยังไม่สิ้นสุดลงนอกจากนั้นตุลาการบางคนยังเห็นว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการ และระยะเวลาดำเนินการในบทเฉพาะกาลสำหรับรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่แล้ว ประกอบกับ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 ก็ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 วรรคหนึ่งไว้เช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกัน กรณีดังกล่าวเป็นกรณีของคู่สมรสของรัฐมนตรี เมื่อกฎหมายทำให้บุคคลได้รับผลร้ายหรืออาจได้รับโทษจึงต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนถึง หลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการ และระยะเวลาในการดำเนินการ ไม่อาจอนุโลมเอากฎหมายที่ใกล้เคียงมาใช้บังคับได้ตามอำเภอใจ ฝ่ายนิติบัญญัติจึงควรตรากฎหมายเพื่ออนุวัตการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 วรรคหนึ่ง โดยเร็วเพื่อให้การเข้ารับตำแหน่งและการดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรีในอนาคตมีความถูกต้อง ชัดเจน และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ส่วนตุลาการเสียงข้างน้อยมองว่า ข้อกล่าวอ้างและเอกสารของบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด และบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที ในเรื่องการโอนหุ้นดังกล่าว ขัดกับเหตุผลและข้อกฎหมายหลายประการ ทั้งการประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 1/2560 ของทั้ง 2 บริษัทที่มีวาระการประชุมเพียง 2 วาระ ซึ่งขัดกับการประชุมทุกปีที่ผ่านมาที่มีการประชุม 5 วาระ และแม้ที่ประชุมใหญ่สามัญของทั้ง 2 บริษัท จะอนุมัติการโอนหุ้นแล้ว ก็ไม่มีการนำส่งให้แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน 14 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด กรรมการผู้จัดการทั้ง 2 บริษัทได้แจ้งข้อมูลต่อคณะกรรมการไต่สวนของ กกต.ว่าจำนวนหุ้นไม่ได้เปลี่ยนแปลง สัดส่วนยังเป็นจำนวนเดิม โดยอ้างว่าเป็นการตอบไปตามข้อมูลที่มีอยู่ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทั้งที่กรรมการผู้จัดการทั้ง 2 บริษัทรับรู้และเป็นพยานในสัญญาการโอนหุ้นดังกล่าว แต่กลับไม่แจ้งข้อมูลการโอนหุ้นต่อ กกต.

ประกอบกับการจดแจ้งการโอนและการรับโอนในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัท ได้ระบุวันที่ 9 ต.ค.2560 เป็นวันเดือนปีที่มีการโอนและการได้มาซึ่งหุ้นดังกล่าว ทั้งที่ การลงรายการในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัท เป็นเรื่องที่บริษัทสามารถแก้ไขการโอนหุ้นลงในสมุดทะเบียนได้เองภายหลังจากที่ประชุมได้อนุมัติการโอนหุ้นดังกล่าวตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย.2560 ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ตุลาการเสียงข้างน้อยมีความเห็นว่าการโอนหุ้นของภรรยานายดอนอาจน่าจะเกิดขึ้นหลังระยะเวลา 30 วันหลังจากรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้แล้ว จึงถือได้ว่าภรรยานายดอนได้ถือครองหุ้นในบริษัทเกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนด อันต้องห้ามตามมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญ และนายดอนจึงต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา170 วรรคหนึ่ง (5) ในทันทีหลังพ้นกำหนด 30วัน