posttoday

กกต.เปิดรับความเห็นการแบ่งเขตเลือกตั้งถึง25พ.ย.นี้

19 พฤศจิกายน 2561

กกต.เปิดเสนอความเห็นแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่จนถึง25พ.ย.นี้ แต่ระบุ ความเห็นต้องสอดคล้องกับมาตรา27 กฎหมายเลือกตั้ง

กกต.เปิดเสนอความเห็นแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่จนถึง25พ.ย.นี้ แต่ระบุ ความเห็นต้องสอดคล้องกับมาตรา27 กฎหมายเลือกตั้ง

นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 16/2461 ออกมาเพื่อให้ กกต.ปฏิบัติงานได้เรียบร้อย และให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งเขตเลือกตั้งพึงพอใจภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และให้กกต.ได้พิจารณาคำร้องอย่างรอบคอบ ซึ่งในวันนี้ (19พ.ย.) กกต.มีการพิจารณาคำสั่งดังกล่าวและมีมติที่จะออกประกาศ กกต.กำหนดระยะเวลารับเรื่องร้องเรียน

ทั้งนี้ โดยจะเปิดรับตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 25 พ.ย. 2561 ซึ่งฝ่ายที่มีส่วนได้เสียกับการแบ่งเขตเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นประชาชน พรรคการเมือง หากเห็นว่าควรแบ่งเขตรูปแบบใด ก็สามารถเสนอความเห็นมาได้ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ต้องระบุชื่อ นามสกุล ที่อยู่ให้ชัดเจน รวมทั้งให้ความเห็นด้วยว่าต้องการให้รูปแบบการแบ่งเขตเป็นแบบใด ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับมาตรา 27 (1) (2) ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. เพื่อให้ กกต.พิจารณา ซึ่งได้วางกรอบเวลาเป็นการภายในว่า กกต.จะเริ่มพิจารณาในวันที่ 26 พ.ย. และเสร็จไม่เกินวันที่ 30 พ.ย.

อย่างไรก็ดี จากนั้นจะส่งประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งลงในราชกิจจานุเบกษาโดยเร็วต่อไป แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้เมื่อไหร่ โดยมีกำหนดว่าต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสส.มีผลใช้บังคับ

ส่วนคำร้องที่ตกค้างอยู่ที่ กกต.หลังพิจารณาแบ่งเขตเสร็จรอบที่แล้วเมื่อวันที่ 7 พ.ย.จนถึงปัจจุบันประมาณ 26 คำร้อง ซึ่งกกต.จะหยิบขึ้นมาพิจารณารวมกับคำร้องใหม่ที่จะมีเข้ามาทั้งผ่านช่องทางที่ร้องตรงมายังกกต. และผ่านคสช.กับรัฐบาลด้วย โดยการพิจารณาของกกต.ไม่ได้เป็นการรื้อเขตเลือกตั้งทุกจังหวัด แต่จะพิจารณาเฉพาะจังหวัดที่มีการยื่นคำร้องเข้ามาเท่านั้น โดยยืนยันว่าการดำเนินการของ กกต.เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ซึ่งกกต.คงไม่สามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับจังหวัดที่มีการยื่นคำร้องเข้ามา รวมถึงรูปแบบที่เสนอด้วย

"หากเปิดเผยก็จะมีการโต้แย้งกันไม่จบสิ้น อีกทั้งอำนาจในการแบ่งเขตก็เป็นของ กกต. การที่กฎหมายกำหนดให้รับฟังความเห็นเป็นเพียงการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ยืนยันว่ารูปแบบเขตเลือกตั้งที่ กกต.กำหนดจะยึดโยงกับรูปแบบที่ได้เคยรับฟังความเห็นประชาชนมาแล้ว ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย เพราะ กกต.คงไม่เอาตัวไปเสี่ยงกับการทำผิดกฎหมายเพื่อใครคนใด คนหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าการแบ่งเขตไม่สามารถทำให้ถูกใจทุกคนได้ ฉะนั้นมันต้องมีทั้งคนได้-คนเสียในเวทีของการแบ่งเขต"นายณัฏฐ์กล่าว