posttoday

นายกฯตอบข้อสงสัย5ประเด็นที่อยากแก้ไขปัญหาให้ประชาชน

16 พฤศจิกายน 2561

นายกฯตอบ5ประเด็นข้อสงสัยที่ประชาชนโหวตอยากทราบหลักคิด-นโยบาย "แก้หนี้นอกระบบ-ใช้กม.บังคับเคร่งครัด-รักษ์สิ่งแวดล้อม-เพิ่มโทษยาเสพติด-ปรับปรุงการเรียนให้ใช้งานได้จริง"

นายกฯตอบ5ประเด็นที่ประชาชนโหวตอยากทราบหลักคิด-นโยบาย "แก้หนี้นอกระบบ-ใช้กม.บังคับเคร่งครัด-รักษ์สิ่งแวดล้อม-เพิ่มโทษยาเสพติด-ปรับปรุงการเรียนให้ใช้งานได้จริง"

เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2561 เวลา 20.15น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยใช้เวลาในช่วงท้ายรายการเพื่อตอบคำถาม “5 ประเด็น” ที่มีระชาชนร่วมกันโหวตว่า อยากฟัง “หลักคิด–นโยบาย” จากพล.อ.ประยุทธ์ ดังนี้

1.ทำอย่างไรแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้จริง โดยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนกู้ในระบบ และมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยต่างๆ ที่ดำเนินการแล้วหลายอย่าง ผลักดันกฎหมายธนาคารชุมชน ตั้งเป้าให้มีธนาคารชุมชนเข้าร่วมเป็นนิติบุคคล ราว 7,000 แห่ง จากทั้งหมด 30,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมียอดเงินฝากรวม 2 แสนล้านบาท โดยร่าง พ.ร.บ.นี้ คาดผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เร็วๆ นี้ ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ อย่างไรก็ตาม แต่การแก้ปัญหาความยากจนให้ยั่งยืนนั้น สิ่งสำคัญคือตนเองที่ต้องยึดแนวทาง “วิถีพอเพียง” เป็นภูมิคุ้มกันให้ปราศจากหนี้สิน พร้อมตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อปลูกฝังวินัยการออม

2.อยากให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เด็ดขาด ขจัดคนชั่วให้หมดไปจากบ้านเมือง การปลูกจิตสำนึก ความรับผิดชอบ และรู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม เป็นความตั้งใจแรกเริ่มที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน แต่เราไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะดูแลในสิ่งเหล่านี้ ดังนั้นเราทุกคนสามารถเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐปิดประตูโอกาสการทำผิด ที่มองเพียงแต่การปราบปรามผู้กระทำผิดเท่านั้นไม่ได้ แต่เราควรส่งเสริมให้ทุกคนมีคุณธรรมจริยธรรมด้วย การเอาโทษผู้กระทำผิดเป็นเพียงการลดจำนวนคนไม่ดีออกไปจากสังคม ขณะที่การเปลี่ยนคนไม่ดีให้เป็นคนดี นอกจากจะลดคนไม่ดีแล้ว ยังสามารถเพิ่มคนดีให้กับสังคมได้ ศาสตร์พระราชาของในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้สร้างกลไกพื้นฐาน “บวร” (บ้าน–วัด–โรงเรียน) ที่จะช่วยซึมซับคุณธรรม ความดีในจิตใจคนไทย ลดความขัดแย้งด้วยตัวเอง สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้บ้านเมืองของเราปลอดภัยและสงบสุขอย่างยั่งยืน

3.อยากให้เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น ป่า และทะเล ให้มากๆ ถ้าเป็นไปได้ขยายพื้นที่ป่าให้มี 50% ของประเทศ การส่งเสริมอาชีพประมงถูกกฎหมาย เพื่อความยั่งยืนของท้องทะเล สนับสนุนเกษตรอินทรีย์และการเกษตรที่ใช้พื้นที่น้อยแต่มีคุณภาพ จัดการขยะ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ยึดถือกฎหมายเป็นหลัก หยุดยั้งกระบวนการบุกรุก สร้างบรรยากาศประมงบนความยั่งยืนท้องทะเลของเรา ไม่ทำร้ายธรรมชาติ ไม่ทำลายระบบนิเวศน์ และฟื้นฟูท้องทะเลไทย ให้เวลาสัตว์น้ำได้ขยายพันธุ์ รวมทั้งการตัดวงจรการใช้แรงงานทาส–การค้ามนุษย์ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการประมง ที่ปล่อยปละละเลยมานาน

สำหรับด้านการเกษตรนั้น ประเทศไทยสามารถเป็นครัวโลกได้ เพียงแต่ต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์เดียวกัน อาทิ นโยบายตลาดนำการผลิต เกษตรอินทรีย์ และบูรณาการระบบขนส่งเกษตรกรที่ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการ ไม่ปลูกพืชตามความเคยชิน ตามยถากรรม นอกจากจะได้ผลผลิตไม่คุ้มค่าแล้ว บ่อยครั้งก็ให้ผลผลิตล้นตลาด ราคาตก รัฐบาลก็ต้องยื่นมือมาช่วยเหลือ ลักษณะเช่นนี้เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ใช้งบประมาณจำนวนมาก ต้องรีบแก้ซะตั้งแต่วันนี้

4.อยากจะให้ช่วยแก้ปัญหายาเสพติดและมีบทลงโทษหนักขึ้น การแก้ปัญหาอาชญากรขอให้มีกระบวนการขั้นตอนที่เด็ดขาดและเข้มงวดให้เหมือน 10 20 30 ปีที่แล้ว ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้คือรากเหง้าของปัญหาคือ เรื่องปากท้อง และความอบอุ่นในครอบครัว เพราะไม่มีใครที่กินอิ่ม นอนหลับ สมาชิกในครอบครัวรักใคร่ใกล้ชิดกันดี จะหันเหตนเองให้หลงใหล เผลอตัว ไปในเส้นทางเสื่อมเหล่านี้ แบบโงหัวไม่ขึ้น เราต้องแก้ที่ต้นตอของปัญหา ทำครัวเรือนไทย “อยู่ดี มีสุข” รายได้พอเลี้ยงครอบครัว มีการศึกษาที่ดี

จึงเป็นที่มาของนโยบายต่างๆ เพื่อพี่น้องผู้มีรายได้น้อย อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การขจัดหนี้นอกระบบ เป็นต้น และเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมาย การลงโทษที่เด็ดขาด รุนแรง เป็นเพียงมาตรการปลายเหตุไม่ใช้การป้องกันแต่เป็นการแก้ไข จึงไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องนัก นอกจากนี้ต้องลดผู้เสพสร้างโอกาสคืนคนดีสู่สังคม

ข้อ 5 พี่น้องประชาชนอยากทราบว่ามีแนวความคิดอย่างไรแก้ปัญหาระบบการศึกษาของไทย ซึ่งแก้ยากเหมือนกันและเห็นตรงกันการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพเราจะทำอย่างไรเพราะเป็นต้นตอของทุกปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น โดยการเรียนในวันนี้เพื่อใช้งานในวันหน้า ดังนั้นบทเรียนและหลักสูตรต้องถูกออกแบบอย่างมีวิสัยทัศน์ เป็นองค์ความรู้ในศตวรรษที่ 21 ในยุคดิจิทัลที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ก็มองไปข้างหน้า เตรียมขับเคลื่อนไปสู่อนาคต เช่น หากจะเรียนวิชาการเกษตร การวิจัย และพัฒนา ต้องแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ป้อนสถานศึกษาด้วย ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้สร้างนวัตกรรมใหม่ที่จะนำไปสู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

โดยให้เด็กเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้ เช่น เราตั้งเป้าหมายในการสร้าง “10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย” มีอะไรบ้าง กระทรวงต่างๆ ต้องมาพูดคุยกันให้ข้อมูลไปเพื่อให้กระทรวงศึกษาจัดทำหลักสูตรการศึกษา โดยไม่ทิ้งให้เป็นหน้าที่เฉพาะของกระทรวงศึกษาธิการเพียงอย่างเดียว ทุกหน่วยงานก็ต้องเตรียมทำงานของตัวเองให้สอดคล้องไปด้วย เท่านั้น กล่าวได้ว่าผมอาจจะกำหนดมีวิสัยทัศน์ได้ คิดได้ แต่ก็ไม่อาจจะครบถ้วนสมบูรณ์ หรือนำไปสู่การปฏิบัติ ด้วยตัวผมคนเดียว หรือด้วยรัฐบาลทั้งหมด หรือกระทรวงศึกษาทั้งหมด เป็นไปไม่ได้ ตนต้องการขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและทุกๆ คน และไม่เพียงสร้างคนเก่งแต่ต้องเป็นคนดีด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ว่า “ความรู้คู้คุณธรรม” จึงจะนับได้ว่าสำเร็จการศึกษาวิชาชีวิต