posttoday

กลาโหมชี้แจงปัดเสนอขึ้นเงินเดือนนายพล

16 พฤศจิกายน 2561

โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจง ยืนยันไม่มีการเสนอขึ้นเงินเดือนนายพล เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่ออัตรา จากจอมพล เป็น พลเอกพิเศษ

โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจง ยืนยันไม่มีการเสนอขึ้นเงินเดือนนายพล  เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่ออัตรา จากจอมพล เป็น พลเอกพิเศษ

เมื่อวันที่ 16 พ.ย. พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม  เปิดเผยว่า กระทรวงกลาโหมได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญ คือ การแก้ไขอัตราจอมพล ปรับเปลี่ยนเป็น อัตราพลเอกพิเศษ ในทุกเหล่าทัพ จึงจำเป็นต้องยกเลิกอัตราเงินเดือนจอมพล และปรับเป็นอัตราเงินเดือนนายพล (ระดับ น.9) แทน  โดยไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือนแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องดังกล่าวกระทรวงกลาโหมได้เปิดเผยให้สังคมทราบแล้ว โดยอยู่ระหว่างเสนอ สนช. พิจารณาร่างดังกล่าว

"ขอยืนยันว่า กองทัพเป็นสถาบันหลักค้ำจุนประเทศชาติ ที่มีประชาชนเสียสละหมุนเวียน ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ชาติ จากรุ่นสู่รุ่นต่อเนื่องกันมาด้วยความภาคภูมิใจ  ขณะเดียวกัน ก็พร้อมเปิดกว้างรับฟังสังคมอย่างสร้างสรรค์มาตลอดการแสดงความคิดเห็นของบุคคล ที่พยายามป้ายสีให้ภาพลักษณ์กองทัพและประเทศชาติเสียหาย ด้วยการบิดเบือน เชื่อมโยงข้อมูล  อาจด้วยความไม่รู้ หรือ ไม่พยายามรับรู้  เพียงเพื่อต้องการแสวงชื่อเสียง สร้างราคาตนเองในสังคม  ถือเป็นพฤติกรรมและการแสดงออกของวุฒิภาวะที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ต่อสภาพการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน"โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์สมาคมฯ เรื่อง “คัดค้านการขึ้นเงินเดือนทหารชั้นนายพล” ระบุว่า ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังจะพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่...) พ.ศ... ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาแล้วนั้น

โดยกฎหมายดังกล่าวมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกอัตราเงินเดือนข้าราชการทหารของนายทหารสัญญาบัตรยศจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ หรือพลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก ที่ครองยศอัตราจอมพล แก้ไขเป็นให้นายทหารสัญญาบัตรยศ พลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก อัตราเงินเดือนพลเอกพิเศษ พลเรือเอกพิเศษ และพลอากาศเอกพิเศษ ให้ได้รับเงินเดือนในระดับ น.9 แทน โดยอ้างว่าเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างและการบริหารจัดการกองกำลังพลของกระทรวงกลาโหม ซึ่งเท่ากับว่า นายทหารสัญญาบัตรยศพลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก จะได้รับเงินเดือนสูงสุด 76,604 บาท (จากเดิมที่เคยปรับขึ้นมาเมื่อปี 2558 ในระดับสูงสุดที่ 72,965 บาท) ซึ่งขณะนี้ประเทศเรามีอัตรานายพลล้นกองทัพมากเกินไป ควรที่จะยุบลงเสียกว่าครึ่งหรือมากกว่า 50% ด้วยซ้ำไป

การที่ สนช.จะพิจารณาผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวในวันนี้วันที่ 16 พ.ย. 2561 นี้ จะเป็นการแสดงออกที่ไม่ละอายต่อประชาชนคนไทยทั้ง 66 ล้านคน ที่ต้องระทมทุกข์กับปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคืองที่ปรากฎอยู่ในขณะนี้ ทั้งการทำมาค้าขายก็ซบเซา ถูกแย่งอาชีพจากนายทุนใหญ่ ทั้งปัญหาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำอย่างรุนแรงทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ฯลฯ การจะพิจารณาขึ้นเงินเดือนให้ทหารในช่วงนี้จึงเป็นการผิดกาลเทศะเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งควรรอให้สภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาพิจารณาจะสง่างามมากกว่า

นอกจากนั้นสมาชิก สนช.กว่าครึ่งเป็นนายทหารระดับสูง ซึ่งการพิจารณาผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ย่อมเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นการใช้อำนาจทางนิติบัญญัติแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองกับพรรคพวกอย่างโจ่งแจ้ง ขัดต่อมาตรา 185 ประกอบมาตรา 219 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ 2560 และขัดต่อข้อ 11 ของมาตรฐานทางจริยธรรมของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม”

"ดังนั้น หาก สนช. ท่านใดยกมือให้ความเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว ก็จะครบองค์ประกอบความผิดทันที ซึ่งสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะนำความร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.เพื่อไต่สวนและสอบสวนลงโทษตามครรลองของกฎหมายต่อไปแน่นอน"แถลงการณ์ฯระบุ