posttoday

สนช.ลงมติวาระ 2-3 "พรบ.ภาษีที่ดิน" 16พ.ย.นี้

15 พฤศจิกายน 2561

สนช.นัดลงมติวาระ 2-3 ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในวันที่ 16 พ.ย.นี้

สนช.นัดลงมติวาระ 2-3 ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในวันที่ 16 พ.ย.นี้

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ จำนวน 94 มาตรา

โดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ในฐานะประธาน กมธ. กล่าวสรุปสาระสำคัญของร่างนี้ ว่า ไม่ได้เป็นร่างใหม่ เพราะมีก่อนหน้านี้แล้ว 2 ฉบับ คือ ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนและที่ดิน แต่ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และอัตราการเก็บภาษีไม่มีการปรับมา 40 ปี ซึ่งเป็นอัตราภาษีถดถอย

"กฎหมายภาษีนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2475 สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ฐานภาษีซ้ำซ้อนกับภาษีเงินได้ เกิดความลักลั่น ดังนั้น เพื่อทำให้เกิดความเป็นสากลเหมือนนานาประเทศ และมีประสิทธิภาพ โปร่งใส สะดวก และเป็นธรรม การตรากฎหมายดังกล่าว จึงถือเป็นการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทรัพย์สิน"นายวิสุทธิ์ ระบุ

นอกจากนี้ ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินและเก็บภาษีให้ท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นมีงบประมาณเพียงพอพัฒนาท้องที่ในระยะยาว ซึ่งอัตราการจัดเก็บมีได้ศึกษาตัวอย่างจากหลายประเทศทั้งในเอเชีย ยุโรป ก่อนปรับให้เข้ากับบริบท สิ่งแวดล้อม และสังคมไทย

ขณะเดียวกัน เกษตรกรส่วนใหญ่จะมีภาระภาษีลดลงเมื่อเทียบกับภาษีที่เสียในปัจจุบัน โดยใน 3 ปีแรกจะยกเว้นให้ แต่เกษตรกรรมขนาดใหญ่จะมีภาษีเพิ่มขึ้นและเก็บตั้งแต่ปีแรก ส่วนผู้ที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ที่อยู่อาศัยเพียงหลังเดียว และมีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะไม่ต้องเสียภาษี แต่ผู้ที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยหลายหลังจะมีภาระภาษีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งผู้ที่เช่าอยู่อาศัยระยะยาวปัจจุบันเป็นผู้รับภาระภาษีทางอ้อมอาจจะได้รับประโยชน์จากภาษีที่ลดลง

สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs ส่วนใหญ่จะมีภาระภาษีใกล้เคียงหรือลดลงจากที่เสียอยู่ในปัจจุบัน แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีทรัพย์สินมูลค่าสูงจะมีภาระภาษีสูงขึ้นจากอัตราภาษีก้าวหน้า นอกจากนี้ ธุรกิจที่มีลักษณะเป็นบริการสาธารณะ เช่น สถานศึกษาเอกชน จะได้รับการบรรเทาภาระภาษี

ส่วนกลุ่มที่ดินรกร้าง จะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นสูง เพื่อกระตุ้นให้เจ้าของที่ดินนำที่ดินดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ ช่วยลดปัญหาการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร และอาจทำให้ผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน สามารถเข้าถึงที่ดินเพื่อใช้ประกอบอาชีพได้ ทั้งนี้ อาจส่งผลกระทบให้ท้องถิ่นบางแห่งมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลดลงบ้าง เมื่อเทียบกับปัจจุบันแต่เมื่อมูลค่าของทรัพย์สินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ท้องถิ่นก็จะมีทรัพย์สินที่เข้าสู่ฐานภาษีเพิ่มขึ้น และมีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นในอนาคต

จากนั้น เปิดให้ที่ประชุมพิจารณารายมาตรา โดยนายเจน นำชัยสิริ สมาชิก สนช. กล่าวว่า มาตรา 20 เป็นเรื่องลดอัตราการเก็บภาษี ซึ่งมีการแก้ไขในมาตรา 34 ทำให้เกี่ยวข้องกับมาตรา 20 คือ การเพิ่มอัตราการจัดเก็บแต่ไม่เพิ่มเพดาน ถ้าไม่มีอัตราเพดาน ห่างจากที่ประกาศเก็บค่อนข้างมาก

“ทำให้มองว่าเป็นอำนาจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะให้ความเห็นชอบการใช้อัตราจัดเก็บจากพื้นที่ หากเป็นเช่นนี้โครงสร้างคณะกรรมการประจำจังหวัดควรมีการปรับปรุงให้เกิดความเป็นธรรม เนื่องจากมาตามตำแหน่ง ดังนั้น ควรปรับโครงสร้างให้สะท้อนกับภารกิจที่มากขึ้น ด้วยการให้มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาด้วย”

พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร สมาชิก สนช. ลักษณะที่ดิน บางที่เป็นที่ดิน สปก. ที่ดินจัดสรรให้ หรือที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ จำเป็นต้องเสียภาษีหรือไม่

นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ กมธ. ชี้แจงว่า กรณีที่ดิน สปก. สำนักงานปฏิรูปที่ดินจัดให้ หรือที่ไม่มีเอกสารสิทธิ โดยหลักต้องเสีย แต่กฎหมายละเอียดเพราะส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรม และอาศัย จะยกเว้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดให้สมาชิกอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ระบุว่า เนื่องจากการลงมติในวาระ 2 เป็นรายมาตรานั้นต้องใช้เวลามาก ดังนั้น จึงขอเลื่อนไปลงมติในวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 16 พ.ย.แทน พร้อมกับสั่งปิดการประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในบทเฉพาะกาลยังระบุด้วยว่า ให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป เว้นแต่การจัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป