posttoday

"ไอติม" เผยเป้าหมาย-เสนอ 5 แนวคิดเพื่อนำพาประเทศไทย

11 พฤศจิกายน 2561

นายพริษฐ์ เผย 5 แนวความคิดปรับโครงสร้างระบบบริหารประเทศ ที่จะนำไทยและลดความเหลื่อมล้ำคนในสังคม

นายพริษฐ์ เผย 5 แนวความคิดปรับโครงสร้างระบบบริหารประเทศ ที่จะนำไทยและลดความเหลื่อมล้ำคนในสังคม

เมื่อวันที่ 11 พ.ย.  นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม หลายชาย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กเปิดเผยเป้าหมายและแนวความคิด การปรับโครงสร้างที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง ลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม

นายพริษฐ์ มองว่า ควรต้องปรับโครงสร้างประเทศหลายอย่างเพื่อจะทำให้เด็ก 2 คน ที่เกิดมาในประเทศไทย มีโอกาสที่เท่าเทียมกัน โดยมี 5 แนวทางดังนี้

1.ใช้ตัวชี้วัดใหม่นอกเหนือจาก GDP

รัฐบาลนี้ภูมิใจมากกับการที่ตัวเลข GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ) ขึ้นทั้งพอถามประชาขนทั่วไป เป็นเอกฉันท์ว่าเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น เรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจเพราะการวัด GDP คือการบวกรายได้ของทุกคนโดยไม่คำนึงว่า รายได้ในประเทศถูกแบ่งระหว่างประชาชนแต่ละคนอย่างไร ถ้าคนที่รวยสุดในประเทศขโมย 1,000 บาท จากคนที่จนสุดในประเทศ GDP ไม่เปลี่ยน หากเรายังประเมินทุกโครงการหรือวัดความสำเร็จของเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงแค่ผลกระทบต่อ GDP ความเหลื่อมล้ำไม่มีทางหายไป

 

2.เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกจังหวัด

ผมเชื่อว่าไม่สามารถกระจายความเจริญ ถ้าไม่กระจายอำนาจอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการให้ทุกจังหวัดมีผู้ว่ามาจากการเลือกตั้งของคนในจังหวัด และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้น โดยต้องควบคู่ไปกับมาตรการเพิ่มความโปร่งใส เพื่อให้จังหวัดจัดการตนเองได้ไปในทางที่เหมาะสมสำหรับจังหวัดนั้นๆ

3.ลดหนี้สิน เพิ่มการออม เพื่อรองรับสังคมสูงวัย

หลายครัวเรือนในไทยลำบาก เพราะปัญหาหนี้สินทั้งในและนอกระบบ โดยปัญหานี้จะยิ่งทวีคูณเมื่อประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย เพราะเราจะมีอายุยืนขึ้น ซึ่งทำให้รายจ่ายหลังวัยทำงานสูงขึ้นไปด้วย เป็นเรื่องสำคัญมากแต่ไม่ง่ายที่รัฐบาลจะต้องหาวิธีช่วยครัวเรือนลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและเพิ่มแรงจูงใจในการออมเงินตั้งแต่เด็กเพื่อเตรียมไว้ใช้ตอนสูงวัย

 

4.สร้างรัฐสวัสดิการ ที่คนจะยอมช่วยกันจ่าย

ผมเชื่อว่า ทุกคนอยากเห็นประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการ ที่ประชาชนทุกคน ทุกจังหวัด สามารถเข้าถึงโรงเรียนและโรงพยาบาลที่มีคุณภาพได้แบบฟรี หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเรื่องนี้ต้องใช้งบประมาณที่ส่วนหนึ่งต้องมาจากการเก็บภาษีจากประชาชน เพื่อจะให้ประชาชนยินดีจ่ายภาษี จำเป็นที่รัฐจะต้องสร้างระบบภาษีที่เป็นธรรม โดยไม่ให้ภาระไปตกอยู่ที่คนที่ไม่สามารถจ่ายได้ ควบคู่ไปกับการทำให้ประชาชนมั่นใจว่า ทุกบาททุกสตางค์ที่ประชาชนจ่ายให้รัฐ จะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศจริง ไม่ใช่หายไปเพราะการทุจริตคอร์รัปชั่น

 

5. ลดการผูกขาด

เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) สามารถแข่งขันได้บนสนามที่เป็นธรรมมากขึ้น รัฐต้องจริงจังกับการออกแบบกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันที่ครอบคลุมและบังคับใช้ได้จริง ยิ่งในยุคสมัยที่ธุรกิจหลายๆอย่างมี network effect ที่ทำให้มีการผูดขาดโดยธรรมชาติ (เช่น ในเมื่อหลายคนใช้ Facebook อยู่แล้ว คนเลยยิ่งอยากใช้ Facebook มากขึ้นเพราะเพื่อนทุกคนอยู่บน Facebook หมด ทำให้ผู้แข่งขันหน้าใหม่เจาะตลาดได้ยากมาก

นายพริษฐ์ ระบุว่า เห็นได้ว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้แรงและเวลาเพื่อผลักดัน แต่ตราบใดที่ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำที่สูง เด็ก 2 คนที่เกิดมาในประเทศเราจะไม่สามารถมีโอกาสที่เท่าเทียมกันได้ และนี่คือเป้าหมายที่ตนจะต่อสู้เพื่อนำพาประเทศไทยให้ไปถึง