posttoday

สภาวุ่นถกร่างบันทึกไทย-เขมรไม่ลงตัว

26 ตุลาคม 2553

ที่ประชุมร่วมรัฐสภาวุ่น  รัฐดันบันทึกไทย-กัมพูชาพิจารณา ด้าน ส.ว.ขอนับองค์ประชุม ก่อนเปิดอภิปรายเต็มที่ไม่ประชุมลับ ยกเว้นเรื่อง ทหาร  “คำนูณ”สวด รับไม่ได้ เพราะไทยเสียประโยชน์

ที่ประชุมร่วมรัฐสภาวุ่น  รัฐดันบันทึกไทย-กัมพูชาพิจารณา ด้าน ส.ว.ขอนับองค์ประชุม ก่อนเปิดอภิปรายเต็มที่ไม่ประชุมลับ ยกเว้นเรื่อง ทหาร  “คำนูณ”สวด รับไม่ได้ เพราะไทยเสียประโยชน์

เมื่อเวลา 14.00น. ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้มีการประชุมพิจารณา  บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) รวม 3 ฉบับ และพิจารณา รายงานผลการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) ไทย-กัมพูชา  ครั้งที่ 6 ที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ   โดยพิจารณาร่างบันทึกและรายงานดังกล่าวเป็นไปด้วยความขลุกขลัก เนื่องจากส.ว.บางส่วน อาทิ นายคำนูณ  สิทธิสมาน    ส.ว.สรรหา   นายไพบูลย์ นิติตะวัน  ส.ว.สรรหา ต้องการให้มีการประชุมโดยเปิดเผย ขณะที่  นายกษิต ภิรมย์   รมว. ต่างประเทศ  กล่าวยืนยันว่า ขอใช้เอกสิทธิ์ประชุมลับ เพราะเป็นเรื่องที่อ่อนไหว อาจจะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศได้

ทำให้นายไพบูลย์ขู่ว่าถ้ามีการประชุมลับจะเสนอให้มีการนับองค์ประชุม เพื่อให้สมาชิกรัฐสภามาร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยหลังจากการพิจารณาได้ 30 นาที ทางฝั่งส.ว.ได้เสนอให้นับองค์ประชุม แต่ปรากฎว่าน่าจะมีสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม  ทำให้นายชัย  ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมพักการประชุม 3 นาที  และได้มีการต่อรองกันโดยให้มีการอภิปรายเรื่องการพิจารณาบันทึกการประชุมเจบีซีไทย-กัมพูชา รวม 3  ฉบับ  แบบเปิดเผย  ส่วนเรื่องรายงานผลการประขุมจีบีซี  ให้มีการประชุมลับได้เพราะเป็นความมั่นคงทางทหาร

โดยนายคำนูณ อภิปรายว่า ไม่สามารถรับรองบันทึกการประชุมเจบีซีทั้ง 3 ฉบับได้ เชื่อว่าถ้าผ่านบันทึกการประชุมดังกล่าวจะทำให้กัมพูชาได้ประโยชน์มากกว่าฝ่ายไทย  เนื่องจากมีการระบุข้อตกลงเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2552 ว่าคู่ภาคีจะไม่คงกำลังทหารไว้ในบริเวณววัดแก้วสิขาคีรีสะวารา  ซึ่งแม้จะถอนทหารไปแล้วแต่ยังมีชุมชน ถนน วัดที่เป็นของกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียว จะเป็นการสนองความต้องการของกัมพูชาทำให้พื้นที่รอบปราสาทพระวิหารเป็นภาพสงบ ไม่มีความขัดแย้ง  ซึ่งไทยไม่ได้อะไรกับการทำให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอย่างสมบูรณ์

นายคำนูนกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการะบุบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา เป็นการสืบทอดมรดกความผิดพลาดที่ไทยไปยอมรับแผนที่อัตรา 1 : 200,000 หรือไม่ เพราะไทยเคยน้ำตาตกมาแล้วตอนเสียปราสาทพระวิหารไปเมื่อปี 2505  ดังนั้น ขอเสนอให้รัฐบาลเลิกเอ็มโอยู 2543 พร้อมขอคืนพื้นที่ที่เป็นของไทยที่มีประเทศอื่นมาสร้างสิ่งก่อสร้างไว้ และเจรจาอนุสัญญาใหม่โดยใช้สันปันน้ำเท่านั้น และเร่งปักปันเขตแดน ไม่เช่นนั้นจะเสี่ยงต่อการเสียดินแดนอีก  ตนเองจึงไม่อาจที่จะรับบันทึกการประชุมนี้ได้ หากรัฐบาลยังไม่มีข้อเสนอใหม่ๆ เข้ามาว่าจะดำเนินการแก้ไขสิ่งที่ผิด หรือสิ่งที่เสี่ยงที่จะให้ไทยมีโอกาสเสียดินแดนไม่ว่าในทางทฤษฎีหรือปฏิบัติ

ก่อนหน้านั้นเมื่อเวลา 13.00 น.ที่ประชุมได้มีมติ  325 ต่อ 8 เห็นชอบกรอบการเจรจาสำหรับคณะผู้แทนไทยในการรับรองพิธีสารนาโงยาว่าด้วยการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม  ในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ  สมัยที่ 10 ระหว่างวันที่ 18-29 ต.ค. 2553  ณ เมือง นาโงยา ประเทศญี่ปุ่น