posttoday

แซน หลานทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชี้ปัญหา-แนะนำข้อเสนอการออก กม.ไซเบอร์

21 ตุลาคม 2561

ชยิกา หลานสาวสองอดีตนายกฯ ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายไซเบอร์ของคสช.-แนะรอให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งทำ

ชยิกา หลานสาวสองอดีตนายกฯ ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายไซเบอร์ของคสช.-แนะรอให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งทำ

เมื่อวันที่ 21 ต.ค.  แซน-ชยิกา หลานสาวนายทักษิณ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นบุตรสาวคนโตของ นางเยาวเรศ ชินวัตร แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ....  โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ดิฉันในฐานะคณะทำงานด้านต่างประเทศ พรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยกับการที่สภานิติบัญญัติ ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร จะผ่านร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายแสดงความกังวลว่า อาจจะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิประชาชน ปิดกั้นสื่อและใช้กฎหมายเพื่อทำลายผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง การที่รัฐบาล คสช.จะเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากการใช้ชีวิตของคนในยุคดิจิตัลจำนวนไม่น้อยกว่า 40 ล้านคนของประเทศ ผูกพันข้อมูลอยู่บนโลกออนไลน์ ผู้ร่างกฎหมายดังกล่าว จึงควรรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้หลากหลายมากกว่าที่ทำอยู่

ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มีปัญหาอย่างไร ?

กฎหมายชุดนี้ไม่ได้มีเพียง ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ เท่านั้น แต่ยังมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ธุรกรรมทางการเงิน และอีกหลายฉบับที่ควรจะถูกเขียนไปในทิศทางที่ส่งเสริมการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลจริงๆ พร้อมทั้งสร้างโอกาสและความเท่าเทียมให้กับประชาชนในการทำมาหากินได้ แต่เหตุผลของผู้ยกร่างกลับสะท้อนเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมา เหมือนต้องการ "ควบคุม" มากกว่า "ส่งเสริมและสนับสนุน" อีกทั้งการเร่งรัดให้ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ทันก่อนเลือกตั้งถูกตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาถึงวัตถุประสงค์ทางการเมืองแอบแฝงหรือไม่? ในข้อเท็จจริง พ.ร.บ.ไซเบอร์ รวมไปถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทั้งเนื้อหาและโครงสร้างบริหารกลับสร้างอุปสรรคในการพัฒนาประเทศไปสู่เวทีสากล เพราะ พ.ร.บ. ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อทั้งสิทธิของภาคประชาชนและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนไทยและต่างประเทศ ที่ใช้ประกอบอาชีพโดยใช้ฐานข้อมูลลูกค้าในการประกอบธุรกิจ ธุรกิจประเภทศูนย์ข้อมูล (Data Center) จะไม่เกิดการลงทุนในไทย แต่จะไปลงทุนในประเทศอย่างสิงคโปรค์ หรือมาเลเซียแทน เพราะถ้าประชาชนในประเทศต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่ขาดหลักนิติธรรมแล้ว ธุรกิจต่างประเทศจะเชื่อมั่นพอที่จะมาลงทุนได้อย่างไร

ปัญหาสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.คือ?

ขาดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างเพียงพอ - ที่ผ่านมา ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ถูกผลักดันอย่างมากจากรัฐบาล มีการรับฟังเสียงของภาคประชาสังคม แต่น่าจะยังไม่รอบด้านเท่าที่ควร โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งได้แสดงเหตุผลและข้อเสนอให้มีการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเรื่องเฉพาะในด้านอำนาจของคณะกรรมการฯ ที่ไปรวมอยู่ที่ฝ่ายความมั่นคง ไม่ได้มีสัดส่วนของภาคประชาชนเข้าร่วมอย่างแท้จริง
คำนิยามยังไม่ชัดเจน – ร่าง พ.ร.บ. ไซเบอร์ ยังมีเนื้อหานิยามที่กำกวม อย่างเช่นคำว่า ”ความมั่นคง” และ “ภัยไซเบอร์” ในส่วนนี้อาจจะถูกนำมาใช้ตีความเพื่อจำกัดและเปิดช่องให้ละเมิดสิทธิประชาชนได้
ร่างกฎหมายนี้สร้างความกังวลให้กับสังคมว่าจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิประชาชน จากการให้อำนาจที่กว้างและคลุมเครือ กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถค้นบ้าน ยึดคอม สอดส่อง ดักฟังได้ ซึ่งเข้าข่ายที่จะละเมิดสิทธิของประชาชน ทั้งยังไม่มีระบบการตรวจสอบโปร่งใส หรือการรับผิดชอบใดๆ จากเจ้าหน้าที่

ข้อเสนอต่อรัฐบาล คสช.

ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรู้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคน การร่างกฎหมายใดๆ ควรเป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสร้างโอกาสที่เท่าเทียมในการแข่งขัน ไม่ใช่เป็นเครื่องมือที่ปิดกั้น และตีกรอบประชาชนจนไม่สามารถพัฒนาได้ จึงขอเสนอให้

-ชะลอการเสนอร่างฯ ผ่าน สนช. พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนให้มากกว่านี้ ให้พรรคการเมืองเสนอทางเลือกให้กับประชาชน แล้วให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนำสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขแล้วค่อยนำกลับเข้าสู่กระบวนการ

-การแสดงความเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง ไม่ใช่ภัยความมั่นคง แต่เป็นความงดงามของระบอบ ประชาธิปไตย รัฐบาลจึงต้องแก้ไขนิยามต่างๆ ในร่างกฎหมายให้ชัดเจน เช่น นิยามเรื่อง “ความมั่นคง” “ภัยไซเบอร์” ฯลฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากกว่านี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน และลดความเสี่ยงที่กฎหมายจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำลายฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมือง 

-การดำเนินคดีต่างๆ ควรมีการดำเนินการผ่านกระบวนการยุติธรรมปกติ ไม่จำเป็นต้องบัญญัติกฎหมายให้อำนาจพิเศษแก่บุคคลหรือคณะบุคคล ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน”