posttoday

"โพลนิด้า"หนุนกกต.ให้เลือก "ส.ว." เร็วขึ้น

14 ตุลาคม 2561

นิด้าโพลเผยคน 87.29% เห็นด้วยให้กกต.เลื่อนกำหนดเลือก สว.เร็วขึ้นเพื่อให้ทันเลือกตั้ง ก.พ.62

นิด้าโพลเผยคน 87.29% เห็นด้วยให้กกต.เลื่อนกำหนดเลือก สว.เร็วขึ้นเพื่อให้ทันเลือกตั้ง ก.พ.62

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การสรรหา ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 10 – 12 ตุลาคม 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,259 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับ การสรรหา ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการที่ กกต. เลื่อนกำหนดการเลือก ส.ว. เร็วขึ้น ด้วยเหตุผลเพื่อให้ทันกับ การเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.29 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ อยากเห็นบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น และมีความพร้อมก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง รองลงมา ร้อยละ 11.36 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เร็วเกินไป อาจจะทำให้กระบวนการสรรหาไม่รอบคอบ ไม่เที่ยงตรง ได้บุคคลที่ไม่มีประสิทธิภาพ และอาจมีการล็อกตัวบุคคล ขณะที่บางส่วนระบุว่า ให้เป็นไปตามแผนเดิม เพื่อผู้สมัครจะได้มีเวลาเตรียมตัว และร้อยละ 1.35 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านลักษณะของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่อยากได้มากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.81 ระบุว่า มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ยอมรับของประชาชน รองลงมา ร้อยละ 23.83 ระบุว่า มีความเป็นกลางไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใด ร้อยละ 11.68 ระบุว่า มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์การทำงานในด้านกฎหมายและด้านอื่น ๆ เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ ร้อยละ 9.69 ระบุว่า ไม่เห็นแก่ลาภยศ เงินทองหรือผลประโยชน์อันมิชอบ ร้อยละ 4.92 ระบุว่า เป็นผู้มีอุดมการณ์ ปฏิบัติหน้าที่อย่างสมศักดิ์ศรี ร้อยละ 3.33 ระบุว่า สามารถสอบสวนการทุจริตและประพฤติมิชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 3.18 ระบุว่า ใช้ความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่ ส.ว. อย่างเต็มที่ และร้อยละ 0.56 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงระดับความเชื่อมั่นต่อ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการสรรหา ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 พบว่า ประชาชน ร้อยละ 16.28 ระบุว่า มีความเชื่อมั่นมาก ร้อยละ 29.95 ระบุว่า ค่อนข้างมีความเชื่อมั่น ร้อยละ 36.46 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่น ร้อยละ 14.93 ระบุว่า ไม่มีความเชื่อมั่นเลย และร้อยละ 2.38 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ โดยผู้ที่ระบุว่า ค่อนข้างมีความเชื่อมั่น – มีความเชื่อมั่นมาก ได้ให้เหตุผลว่า ประเทศไทยขาดอิสระภาพความเป็นประชาธิปไตยมานาน การสรรหาครั้งนี้น่าจะได้บุคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ที่ดี มาช่วยในการพัฒนาบริหารประเทศ ส่วนผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่น – ไม่มีความเชื่อมั่นเลย ให้เหตุผลว่า ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในแนวทางที่ประชาชนมีส่วนร่วม เกรงว่าจะเข้ามาเพื่อหวังผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง มากกว่าเข้ามาทำเพื่อประเทศและประชาชนอย่างแท้จริง

"โพลนิด้า"หนุนกกต.ให้เลือก "ส.ว." เร็วขึ้น