posttoday

สนช.เห็นชอบร่างกม.ทรัพยากรน้ำ ชี้เนื้อหาบางส่วนเสี่ยงขัดรธน.

04 ตุลาคม 2561

ที่ประชุมสนช.มีมติ 191 ต่อ 2 คะแนน เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำเล็งยื่นศาลรธน.ตีความ ชี้เนื้อหาบางส่วนเสี่ยงขัดรธน. เล็งยื่นศาลตีความ

ที่ประชุมสนช.มีมติ 191 ต่อ 2 คะแนน เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำเล็งยื่นศาลรธน.ตีความ ชี้เนื้อหาบางส่วนเสี่ยงขัดรธน. เล็งยื่นศาลตีความ

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเสียงข้างมาก 191 ต่อ2 คะแนน เห็นสมควรให้ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ เป็นกฎหมาย

ทั้งนี้ การพิจารณาร่างกฎหมายได้มีสมาสชิกสนช.จำนวนหนึ่งนำโดยนายเจน นำชัยศิริ สมาชิกสนช. อภิปรายคัดค้านไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน อาทิ มาตรา 57 การให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้บุคคลซึ่งกักเก็บน้ำไว้ ต้องเฉลี่ยน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการอุปโภค บริโภคของประชาชนในพื้นที่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายกรัฐมนตรีประกาศกำหนด และมาตรา 77 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปในที่ดินบุคคลใด เพื่อตรวจตรา สำรวจ ตรวจค้น ยึดหรืออายัดเอกสารหรือสิ่งใดที่เกี่ยวข้องในกรณีที่มีหลักฐานอันสมควรเชื่อได้ว่า มีการกระทำผิดตามพ.ร.บ.ฉบับนี้

ต่อมาเวลา 14.00 น. ภายหลังสนช.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)นำดอกไม้มามอบแก่พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สนช.ในฐานะประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อขอบคุณที่ช่วยผลักดันร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจนสำเร็จ

พล.อ.อกนิษฐ์กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นกฎหมายฉบับแรกของการปฏิรูปประเทศที่กำหนดให้มีการบริหารจัดการน้ำ ยืนยันว่า กมธ.พิจารณาอย่างรอบคอบ รับฟังความเห็นจากทุกส่วนราชการ ภาคประชาชน มั่นใจว่า ไม่มีเนื้อหาส่วนใดขัดต่อรัฐธรรมนูญแน่ การที่นายเจน นำชัยศิริ สนช.ระบุจะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ขอให้ไปดูในคำปรารภที่ระบุชัดเจนถึงเหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลบางประการตามร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงไม่ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

ด้านนายเจน กล่าวว่า ขอหารือกับสมาชิกสนช.ก่อนว่าเห็นสมควรจะไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะต้องไปพิจารณาให้รอบคอบว่า ประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ยังบอกไม่ได้จะไปยื่นเมื่อใด ขอเวลาพิจารณาก่อน