posttoday

"กิตติรัตน์"เปิดใจไม่ลงสมัครชิงหัวหน้าเพื่อไทย เผยยินดีทำการเมืองต่อ

03 ตุลาคม 2561

"กิตติรัตน์ ณ ระนอง" เผยไม่ขอลงสมัครชิงหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันไม่ย้ายหนีและยินดีทำงานการเมืองต่อ ชี้ 2 ภาระเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ทำศก.เติบโต-แก้ความเหลื่อมล้ำ

"กิตติรัตน์ ณ ระนอง" เผยไม่ขอลงสมัครชิงหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันไม่ย้ายหนีและยินดีทำงานการเมืองต่อ ชี้ 2 ภาระเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ทำศก.เติบโต-แก้ความเหลื่อมล้ำ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเป็นสัญญาณที่ดี เป็นบรรยากาศที่ดี จะทำให้ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผล 2 ด้านสำคัญ คือ ด้านการลงทุนทางตรงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผุ้บริโภคก็มีความเชื่อมั่น ส่วนผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะประชาชนตัดสินใจเลือกตั้งแล้ว ระบบกลไกรัฐธรรมนูญก็จะกำหนดว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล เป็นฝ่ายค้าน ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

วันนี้ คนทั่วไปคาดหวังว่าการเลือกตั้งจะเกิดในวันที่ 24 ก.พ.2562 ไม่จำเป็นต้องเร็วกว่านั้น เมื่อมีความคาดหวังทำให้ตลาดทุนรับรู้ในทางบวกเพราะคิดว่าจะเป็นไปตามโรดแมป

ขณะที่ บรรยากาศทางการเมืองเริ่มดูดี เพราะคนที่ต้องการเข้าสู่ระบบการบริหารก็มีการตั้งพรรค เสนอตัวให้ประชาชนเลือกในช่วงนี้ แต่ละพรรคเริ่มขั้นตอนตาม อย่างพรรคเดิมก็ต้องแก้ไขข้อบังคับให้ตรงกับที่กฎหมายกำหนด พรรคใหม่ก็ต้องผ่านอนุมัติข้อบังคับ และทำกระบวนการในการจัดตั้งสำนักงานสาขาในภาคต่างๆ ซึ่งเป็นเงื่อนไขขั้นต่ำที่จะส่งผู้สมัคร และคัดเลือกผู้สนใจมาสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร(ส.ส.) เพราะครั้งนี้เป็นการเลือกแบบบัตรเดียว เพราะไม่มีการแยกปาร์ตี้ลิสต์ หรือบัญชีรายชื่อนักการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนที่พรรคส่งลงสมัครส.ส.ตามระบบบัญชีรายชื่อ

สมัยก่อนผู้สมัครคนนี้อาจไม่ดังมาก แต่ถ้าชอบใจพรรค ก็โหวตพรรคได้ แต่คราวนี้การเลือกบัตรเดียว ทำให้การเลือกผู้สมัครส.ส.ต้องเข้มข้นขึ้น ซึ่งสมาชิกพรรคหลายคนมั่นใจว่าจะได้ลงเขตเดิม โดยเฉพาะคนที่เคยเป็นอดีต ส.ส.ในเขตนั้นๆ หรือ จังหวัดที่ไม่มีการเพิ่ม ลด จำนวน

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ลดจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเหลือ 350 คน จากเดิม 375 คน บางจังหวัด ส.ส.ลดลง ก็ต้องปรึกษาหารือกันว่าจะส่งใคร โดยผู้ทำหน้าที่นั้นคือกรรมการสรรหาผู้สมัคร 11 คน ที่หมู่มวลสมาชิกเลือกขึ้นมาทำหน้าที่ แล้วลงพื้นที่ประเมินความนิยมจากประชาชนในเขตนั้นๆ แล้วต้องนำหารือกับผู้แทนสาขาพรรค

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า สำหรับพรรคเพื่อไทย จะมีการเลือกหัวหน้าพรรค ในวันที่ 28 ต.ค. หลังจากนั้นหัวหน้าพรรคจะเลือกกรรมการบริหารพรรคกันใหม่ เพราะข้อบังคับของพรรคมีระบุว่า ถ้าสมาชิกพรรค หรือ คนที่ต้องการเสนอตัว สามารถลงสมัครเอง หรือ เสนอตัวในที่ประชุม หรือสมาชิกเสนอชื่อในที่ประชุม เชื่อว่าจะมีชื่อผู้ที่ได้รับการเลือกให้เข้าแข่งขัน หรือ แคนดิเดท ออกมาก่อนถึงวันที่ 28 ต.ค.
วันนี้ก็เริ่มมีข่าวออกมาแล้ว อาทิ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จาตุรนต์ ฉายแสง ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร วัฒนา เมืองสุข ซึ่งล้วนแต่เป็นคนที่มีความสามารถ มีความอาวุโส มีความรู้ เคยทำหน้าที่ต่างๆ การมีชื่อในข่าวว่าเป็นแคนดิเดท ไม่แปลก

"ผมไม่ลงสมัครหัวหน้าพรรค ถ้ามีคนเสนอชื่อผมก็คงดีใจ แต่คงปฏิเสธ เพราะไม่ชำนาญเรื่องการเมือง แต่มีความชำนาญเรื่องแนวทางเศรษฐกิจหรือแนวทางการบริหารจัดการ และเรื่องกีฬา ซึ่งผมสนใจ" นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า หลังวันที่ 28 ต.ค.ก็จะพ้นตำแหน่งรักษาการรองหัวหน้าพรรค ต้องดูว่าหัวหน้าพรรคคนใหม่จะเลือกใครมาเป็นกรรมการบริหาร โดยยืนยันว่าไม่คิดจะย้ายพรรคด้วย เพราะเชื่อว่าวิธีคิดแบบเพื่อไทยจะช่วยสร้างประโยชน์ให้ประชาชนได้ถึงไม่มีตำแหน่ง ก็ทำงานร่วมกับคนอื่นได้

นอกจากนี้ มั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้งภายในกำหนด ที่พูดไม่ได้ต้องการไปกดดันใคร แต่ทุกคนรู้ว่าการเลือกตั้งตามกำหนดเป็นประโยชน์กับประเทศ และน่าเป็นประโยชน์ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ด้วย และพรรคที่รัฐบาลต้องการสนับสนุน ทางผู้ใหญ่ของคสช.ก็มีกระบวนการทำงานอยู่ในระบบ จึงไม่เห็นสัญญาณอะไรที่ใครอยากทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปตามกำหนด

สำหรับ ภาระเร่งด่วนของรัฐบาลชุดใหม่ มองว่ามีอยู่ 2 เรื่องคือ 1.การทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโต อย่างประเทศฟิลิปปินส์ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเกือบ 7% ต่อปี 2.ทำให้ความเหลื่อมล้ำดีขึ้น เพราะไทยติดอันดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงอันดับ 3 ของโลก หากทำได้ดี จะทำให้เศรษฐกิจโตด้วย เพราะคนที่มีรายได้สูงเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก ก็ไม่ได้บริโภคเพิ่ม แต่ถ้าผู้มีรายได้น้อย มีรายได้ที่ดีขึ้น จะมีการบริโภคเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม กระบวนการที่จะทำให้ผู้มีรายได้น้อย มีรายได้ที่ดีขึ้น ต้องทำด้วยความสมเหตุสมผล คือ ผลิตภาพต้องดีขึ้นด้วย

กรณีของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในยุคหน้า หากทำดีดี จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะคนที่มีรายได้ไม่สูงซึ่งเกี่ยวข้องกับอีอีซี ทั้งทางตรงและทางออ้ม จะมีโอกาสทางการทำงานเพื่อเพิ่มรายได้ แต่ถ้าไม่ระวัง โดยทุกอย่างวิ่งเข้าอีอีซีหมด คนที่อยู่รอบนอกไม่ได้ประโยชน์ จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

"ในพรบ.อีอีซี ประโยชน์ที่ให้เชื่อมโยงกับหน่วยงานสาขา ที่อยู่รอบนอกด้วย หากทำได้ดีจะทำให้รายได้ขยายออกไปยังคนที่อยู่รอบนอก ก็จะลดความเหลื่อมล้ำได้บ้าง"นายกิตติรัตน์ กล่าว