posttoday

"บิ๊กตู่"ชูโมเดลใหม่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศให้ประสบความสำเร็จเร็วขึ้น

28 กันยายน 2561

นายกฯชูแนวคิดเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ประสบความสำเร็จ"เร็วขึ้น"ด้วยโมเดลใหม่ "BCG"

นายกฯชูแนวคิดเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ประสบความสำเร็จ"เร็วขึ้น"ด้วยโมเดลใหม่ "BCG"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า ที่จะเล่าให้ฟังในวันนี้เป็นแนวคิดที่จะเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ประสบความสำเร็จ"เร็วขึ้น"ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า "BCG"  B ก็คือ เศรษฐกิจชีวภาพ   C ก็คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน  และ G คือ เศรษฐกิจสีเขียวมีหลักคิด 3 ประการคือ (1) โมเดลเศรษฐกิจใหม่ (หรือ BCG) ทั้ง 3 เรื่องนั้น จะสอดรับกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 (2) เศรษฐกิจ BCG จะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างถ้วนหน้า โดย "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" และ (3) เศรษฐกิจ BCG เป็นรูปแบบเศรษฐกิจ ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDG

เศรษฐกิจชีวภาพ หรือ "ไบโอ-อีโคโนมี่"ประกอบไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และการเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรของโลก ด้วยการประยุกต์ใช้ความรู้ ร่วมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับทรัพยากร ชีวภาพ และผลผลิตทางการเกษตร เน้นสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากมายในบ้านเมืองเรา เพียงแต่เราต้องไม่หยุดค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ ประยุกต์จากตัวอย่างความสำเร็จของผู้อื่น และไม่ปิดรับความเปลี่ยนแปลงของโลก อาทิข้าวไรซ์เบอรี่ ซึ่งเป็นข้าวที่มีมูลค่าสูง ที่ได้รับการพัฒนาให้มีลักษณะดีด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ สารสกัดจากพืชสมุนไพร เพื่อใช้เป็นเครื่องสำอาง หรืออาหารเสริม ซึ่งเพิ่มคุณค่าให้กับสมุนไพรไทย หลายเท่าตัว การผลิตเอทานอล และไบโอดีเซล

สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่งของประเทศ ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันได้ปีละนับแสนล้านบาทจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจชีวภาพนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคเกษตรกรรมของประเทศ ได้สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตดั้งเดิม ซึ่งคงไม่ใช่การขายเป็นวัตถุดิบ แต่เป็นการขายสินค้าแปรรูป โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ๆ

ดังนั้นเราถือได้ว่าเศรษฐกิจชีวภาพ จะเป็นกลไกสำคัญ ในการส่งเสริมการกระจายรายได้ และความเจริญ ไปสู่ภาคส่วนต่างๆ อย่างทั่วถึง ที่สำคัญเศรษฐกิจชีวภาพมีความเกี่ยวเนื่องกับการจ้างงานในระบบ ไม่น้อยกว่า 16.5 ล้านคน ทั้งในภาคเกษตรอุตสาหกรรม และภาคอุตสาหกรรม  ซึ่งนับว่ามากถึง ร้อยละ 50 นะครับ ของจำนวนแรงงานในปัจจุบัน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ราว 3 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 21 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

สำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นระบบเศรษฐกิจที่มุ่งสร้างมูลค่า "สูงสุด" จากทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่ไปกับ การลดของเสียลงให้ "น้อยที่สุด" หรือเป็นศูนย์ (Zero waste) ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตเพื่อลดการใช้น้ำ - พลังงาน แต่เพิ่มการใช้เทคโนโลยีสะอาด มากขึ้น อีกทั้ง ให้ความสำคัญกับ "การป้องกัน" การเกิดของเสีย และ คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ  กระบวนการผลิต การเลือกใช้วัสดุที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ หรือ นำของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมาแปรสภาพ เพื่อกลับมาใช้ในรูปแบบอื่นๆได้ ตัวอย่างของเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย เช่น การนำน้ำเสีย หรือของเสีย หลังจากกระบวนการผลิตแอลกอฮอล์ ไปใช้เป็นปุ๋ย ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ในการซื้อปุ๋ยเคมี

ทั้งนี้เศรษฐกิจหมุนเวียนจะมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาขยะ ที่เพิ่มขึ้นทุกปี จากปริมาณ 24 ล้านตัน ในปี 2551 เป็น 27 ล้านตัน ในปี2560 แต่ละปีจะมีขยะตกค้างเป็นจำนวนมาก ถูกทิ้งลงแม่น้ำ ลำคลอง และท้องทะเล ก็ทำให้คุณภาพแหล่งน้ำเสื่อมโทรม สัตว์น้ำเสียชีวิตจากการกินขยะในทะเล แนวทางการแก้ปัญหาที่ทำไปแล้ว มีทั้งการรณรงค์ลดใช้พลาสติก การใช้พลาสติกอื่นๆ ด้วยนะครับ หรือ นำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำใหม่ 
 

ภาคธุรกิจมองหาแนวทางแก้ปัญหา ตั้งแต่ "ต้นทาง" ได้แก่การค้นคว้า วิจัย และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ที่บางและเบา มีความแข็งแรงทนทานและ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การนำขยะที่เน่าเสียได้ ไปหมักจนเกิดเป็นก๊าซชีวภาพ แล้วนำมาใช้ในการหุงต้ม ทำให้เกิดการหมุนเวียนจากของเสีย ไปเป็นพลังงาน แต่ทั้งหมดจะสำเร็จไม่ได้เลย ถ้าพวกเราทุกคนไม่ร่วมมือกัน อย่างจริงจัง ไม่แยกขยะ ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองให้ลดน้อยลง

ส่วนเศรษฐกิจสีเขียวเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่เข้ามาแก้ปัญหาโลก ในปัจจุบัน ที่กำลังเผชิญกับ "ความเสียสมดุล"อันเป็นผลกระทบมาจากอดีตจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก และนำไปสู่ความต้องการอุปโภค-บริโภค ที่เพิ่มขึ้น ทั้งด้านอาหารและพลังงานความต้องการพื้นที่ทำการเกษตรและที่อยู่อาศัย อีกทั้งการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ทำให้ทรัพยากรลดจำนวนลงไปมาก บางส่วนเสื่อมโทรม มีการปล่อยของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก เกินความสามารถของโลก ที่จะรองรับได้