posttoday

ไอลอว์ ชี้ 4 ปี คสช.ขึ้นเงินเดือนขรก."ส่อต่างตอบแทน"

28 กันยายน 2561

ไอลอว์สรุป 4 ปีการขึ้นเงินเดือนข้าราชการในยุค คสช. "ส่อต่างตอบแทน" ใช้งบประมาณมากขึ้น แต่ประสิทธิภาพไม่เปลี่ยนแปลง

ไอลอว์สรุป 4 ปีการขึ้นเงินเดือนข้าราชการในยุค คสช. "ส่อต่างตอบแทน" ใช้งบประมาณมากขึ้น แต่ประสิทธิภาพไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 61 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ เปิดเผยผลสรุป สี่ปีการขึ้นเงินเดือนข้าราชการในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า คสช. ให้ความสำคัญกับการขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการอันจะเห็นได้จากการแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ของคณะรัฐมนตรี ที่ระบุเรื่องการจัดระบบอัตราและปรับปรุงค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐให้เหมาะสมและเป็นธรรม ยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี การบริหารจัดการภาครัฐแบบใหม่ เอาไว้ อีกทั้ง คสช. ยังผลักดันกฎหมายขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการไปแล้วอย่างน้อย 10 ฉบับ

"ในยุคคสช. มีการออกกฎหมายเพิ่มรายได้ให้บรรดาข้าราชการอย่างน้อย 10 ฉบับ ครอบคลุมข้าราชการหลายสาขา เช่น ตำรวจ ทหาร ครู ข้าราชการพลเรือน และล่าสุดคือ การออกกฎหมายขึ้นเงินเดือนให้องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ และอัยการ แต่ถ้าดูจากมติ ครม. จะเห็นได้ว่ายังมีการเลื่อนขั้นพิเศษให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรือไปช่วยงานของ ครม. อีกด้วย" ณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าฝ่ายจับตากฎหมายจากไอลอว์ กล่าว

ทั้งนี้ ไอลอว์ มองว่า การขึ้นเงินเดือนดังกล่าวยังมีข้อกังวลถึงผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากระบบราชการเป็นกลไกหลักที่ คสช. ใช้ในการสนองตอบนโยบายมาตลอดสี่ปี อีกทั้งการขึ้นเงินเดือนทำให้งบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐสูงขึ้นจากปี 2557 ถึงสี่แสนล้านบาท แต่ผลการจัดอันดับประสิทธิภาพของรัฐบาลและความโปร่งใสกลับไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด

ณัชปกร กล่าวว่า "สิ่งที่น่าสนใจจากการเพิ่มเงินเดือนให้กับบรรดาข้าราชการมีสองส่วนด้วยกัน คือ หนึ่ง การขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการยุค คสช. มีลักษณะของการต่างตอบแทน เนื่องจากระบบราชการคือกลไกหลักในการบริหารประเทศของ คสช. รวมไปถึงศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ทำงานรับรองการใช้อำนาจของ คสช. และ สอง การขึ้นเงินเดือนข้าราชการในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ภาระงบประมาณสูงขึ้นกว่าสี่แสนล้านบาท อย่างงบประมาณปี 2562 งบบุคลากรภาครัฐอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของงบประมาณทั้งหมด แต่จากการประเมินของธนาคารโลกพบว่า ประสิทธิภาพการทำงานของรัฐเปลี่ยนแปลงในทางบวกน้อยมาก พร้อมๆ กับ ความโปร่งใส่ของภาครัฐที่ต่ำลงจากช่วงก่อนรัฐประหาร"

การที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับข้าราชการเป็นหลักสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ ซึ่งการขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบในยุค คสช. นำไปสู่คำถามถึงความเหมาะสม เนื่องจากเงินเดือนข้าราชการถูกปรับสูงขึ้น ในขณะที่หากเปรียบเทียบกับผู้ใช้แรงงานข้อเรียกร้องเรื่องค่าแรงขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานกลับไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล

"ประเด็นสำคัญอีกประการที่ต้องมองเกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือนคือความเหลื่อมล้ำ จริงอยู่ว่า การปรับค่าครองชีพของกลุ่มแรงงานกับข้าราชการค่อนข้างใกล้เคียงกัน คือเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่ากัน แต่ฐานรายได้ของกลุ่มผู้ใช้แรงงานกับข้าราชการยังแตกต่างกันมาก ในขณะที่ข้าราชการระดับสูงเงินเดือนหลักแสนได้เงินเพิ่มอีกหลักหมื่นบาท แต่กลุ่มผู้ใช้แรงงานถ้าได้เงินเพิ่มอย่างมากเดือนละเก้าร้อยบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีกสองคน ซึ่งเป็นไปตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่ต้องการให้ค่าจ้างขั้นต่ำเหมาะสมกับความจำเป็นของลูกจ้างและครอบครัว โดยคำนึงถึงระดับอัตราค่าจ้างทั่วไปในประเทศนั้น ต้นทุนค่าครองชีพ ผลประโยชน์จากระบบประกันสังคม และมาตรฐานการครองชีพโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มสังคมอื่นๆ" ณัชปกร กล่าว