posttoday

"นายกฯ"ถกพัฒนาศก.ย้ำโครงการต้องใช้งบประมาณคุ้มค่า

18 กันยายน 2561

นายกฯ ประชุมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1-กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ย้ำโครงการต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณเป็นหลัก

นายกฯ ประชุมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1-กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ย้ำโครงการต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณเป็นหลัก

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 18 ก.ย. ที่ ห้องประชุม LC2 ชั้น 4 อาคารศูนย์ปฏิบัติการภาษาและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ตำบลสะเดียง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 (ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุตรดิตถ์) และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี) โดยที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบตามข้อเสนอขอรับการสนับสนุนที่สำคัญในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. ด้านการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง – อินโดจีน – เมาะลำไย กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง  ที่ประชุมเห็นชอบพิจารณาให้การเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ ไว้เป็นส่วนหนึ่งภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำอิระวดี – เจ้าพระยา - แม่โขง พร้อมพัฒนาศักยภาพโครงข่ายทางหลวงหมายเลข 117 และเส้นทางรองเชื่อมโยงจุดผ่านแดนถาวรภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการเข้า - ออก ประเทศไทย ผ่านด่านชายแดนทางบกด้วยระบบขอวีซ่าผ่านระบบออนไลน์ โดยมอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้แก่ มท. คค. และ กต. บูรณาการแผนงานวางยุทธศาสตร์ให้เกิดความเชื่อมโยง พร้อมเตรียมแผนงานรองรับสถานการณ์ในอนาคตต่อไป

2. ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ โครงข่ายคมนาคมทางอากาศ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ที่ประชุมเห็นชอบสนับสนุนพัฒนาท่าอากาศยานจังหวัดพิษณุโลก และพัฒนาตลาดธุรกิจการบิน เพื่อยกระดับสู่การให้บริการการบินระหว่างประเทศ ในส่วนของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ซึ่งมีพื้นที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ตามศักยภาพด้านโลจิสติกส์ มีระบบคมนาคมขนส่งเชื่อมต่อตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ – ใต้และตะวันออก – ตะวันตก ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง  และเห็นชอบสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยานเลย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานท่าอากาศยาน รวมทั้งพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรองรับการเติบโตของนักเดินทางและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มและมีแนวโน้มเติบโตขึ้น  พร้อมเห็นชอบให้ศึกษาความเหมาะสมโครงการท่าเรือบก จังหวัดอุดรธานี เพื่อรองรับ Platform ของระบบโลจิสติกส์ของรัฐบาล และเห็นชอบให้ศึกษาการสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อทุกจังหวัดภายในกลุ่ม (เลย หนองบัวลำภู บึงกาฬ) โดยทุกแผนงานโครงการให้คำนึงถึงความคุ้มค่าเป็นหลัก และให้เร่งดำเนินการในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ในทันที

3. ด้านแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการแก้ปัญหาอุทกภัย กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ที่ประชุมเห็นชอบให้เร่งรัดดำเนินการพัฒนาระบบชลประทานลุ่มน้ำป่าสัก ส่วนกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ที่ประชุมเห็นชอบการก่อสร้างระบบระบายน้ำในเมือง จ.บึงกาฬ และศึกษาความเหมาะสมพัฒนาลำน้ำสวยเพื่อภาคการเกษตร รวมถึงศึกษาสำรวจออกแบบการพัฒนาลุ่มน้ำในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1

4. ด้านยกระดับการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต กลุ่มจังหวัดภาคตะวันอกเฉียงเหนือตอนบน 1 ที่ประชุมเห็นชอบขยายพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์ในกลุ่มจังหวัดโดยการขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่การเกษตรพร้อมติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน และเห็นชอบตั้งศูนย์ Excellent Center เพื่อวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้าน SME โดยใช้ชื่อว่า “Sabai Dee Excellent Centre for Local Development” ให้เป็นศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมทางการเกษตร รวมทั้งขับเคลื่อนการสร้างองค์ความรู้ด้านการแปรรูป การตลาดและส่งเสริมสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตรแก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้กลุ่มจังหวัดภาคตะวันอกเฉียงเหนือตอนบน 1 ประกาศเป็นกลุ่มจังหวัดคลัสเตอร์ยางพารา เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนาเรื่องยางพาราอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตยางพารา รวมถึงเห็นชอบพิจารณาประกาศให้จังหวัดอุดรธานีเป็นเมืองสมุนไพรเพิ่มจากที่กำหนดไว้

5. ด้านการท่องเที่ยว กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ที่ประชุมเห็นชอบให้พิจารณาศึกษายกระดับการท่องเที่ยวและเกษตรปลอดภัยด้วย Digital Platform พัฒนาผู้ประกอบการและผู้ประกอบการอาชีพด้านเกษตรกรรมปลอดภัย การพักผ่อนและการท่องเที่ยว การบริหารสุขภาพให้สามารถใช้ Digital Technology ที่เหมาะสม และเห็นชอบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย รวมทั้งเห็นชอบให้พิจารณาดำเนินการศึกษาเพื่อผลักดันแหล่งธรณีวิทยาจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นอุทยานธรณีโลก พร้อมทั้งเห็นชอบให้พิจารณาพัฒนาบึงทุ่งกะโล่ จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นแหล่งท่องเที่ยว

กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดทำแผนแม่บทพัฒนาการท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขง 7 จังหวัด โดยจัดให้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ ด่านพรมแดนทางบก พร้อมทั้งให้พิจารณาดำเนินการจัดมี Visa on Arrival โดยนำร่องที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย และท่าอาศยานนานาชาติอุดรธานี

6. ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ที่ประชุมเห็นชอบเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างอาคารผ่าตัดรักษา โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และอาคารผู้ป่วยนอก ศูนย์อุบัติเหตุฉุกเฉินโรงพยาบาลหล่มสัก โดยปรับแผนมาดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ส่วนกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพการบริการสุขภาพโรงพยาบาลในจังหวัดเลย (โรงพยาบาลเลย, โรงพยาบาลวังสะพุง) เพื่อยกระดับระบบสาธารณสุขด้านการให้บริการผ่าตัดและลดความแออัดในโรงพยาบาล

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายระหว่างการประชุมว่า การประชุมหารือในวันนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือการทำงานของส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นจากส่วนราชการในพื้นที่ด้วย ในส่วนของโครงการต่าง ๆ ที่ได้มีการเสนอในที่ประชุมนั้น รัฐบาลพร้อมรับหลักการเพื่อนำไปพิจารณาซึ่งจะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณเป็นหลัก ทั้งนี้ ขอให้ช่วยกันสร้างห่วงโซ่มูลค่า สร้างชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง วางแผนการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

พร้อมกับเน้นย้ำให้สร้างความเข้าใจต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะการผลิตสินค้าเกษตรต้องส่งเสริมให้เป็นสินค้า GI ระบุแหล่งที่มาของสินค้าอย่างชัดเจน สามารถตรวจสอบพื้นที่ในการเพาะปลูกได้ด้วย ส่วนเรื่องของยางพาราต้องส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากยางพาราในด้านต่าง ๆ ให้มากที่สุด และขอความร่วมมือไม่ขยายพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นอีก เพราะจะกระทบต่อราคายางพารา

ในส่วนของการท่องเที่ยวนั้น นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ดูแลเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นหลัก พร้อมกับเป็นเจ้าบ้านที่ดี และให้เชื่อมโยงการท่องเที่ยว โดยให้เพิ่มมูลค่าตลอดเส้นทางการท่องเที่ยว แบ่งสถานที่ท่องเที่ยวให้ชัดเจน ว่าสถานที่ไหนเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก และสถานที่ไหนเป็นแหล่งท่องเที่ยวรอง