posttoday

ยธ.โต้รายงานยูเอ็นกล่าวหาไทยน่าละอาย ชี้ขาดความสมดุลของข้อมูล

16 กันยายน 2561

ยธ.โต้ยูเอ็นจัดอันดับไทยประเทศน่าละอายไม่จริง ยันปกป้องให้สิทธิฯนักเคลื่อนไหวเสี่ยงต่อการถูกละเมิด ส่วนกรณี"ไมตรี-ศิริกาญจน์"อยู่ในขั้นตอนกฎหมายไทยร้องขอช่วยเหลือการประกันได้

ยธ.โต้ยูเอ็นจัดอันดับไทยประเทศน่าละอายไม่จริง ยันปกป้องให้สิทธิฯนักเคลื่อนไหวเสี่ยงต่อการถูกละเมิด ส่วนกรณี"ไมตรี-ศิริกาญจน์"อยู่ในขั้นตอนกฎหมายไทยร้องขอช่วยเหลือการประกันได้

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. น.ส ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ออกแถลงการร์ชี้แจง กรณีองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกมาระบุว่ารายงานประจำปี 2561 ได้เผยแพร่รายชื่อ 38 ประเทศน่าละอาย โดยอ้างว่า มีการปฏิบัติไม่ดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งในจำนวนนี้ รวมประเทศไทยอยู่ด้วยนั้น

กรมคุ้มครองสิทธิฯขอชี้แจงว่า รายงานดังกล่าวยังขาดความสมดุลของข้อมูล ซึ่งรัฐบาลตระหนักและให้ความสำคัญในเชิงนโยบายการส่งเสริม คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด ไม่เคยมีนโยบายหรือเจตนาข่มขู่ คุกคาม นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน แต่อย่างใด เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลมีการวางมาตรการ กลไกต่างๆ เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อให้ได้รับความปลอดภัย และสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนามาตรการในการคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิด การจัดทำคู่มือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การรับเรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียน ตลอดจนการติดตามสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อหาทางช่วยเหลือและการจัดทำรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รับทราบปัญหาและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

น.ส. ปิติกาญจน์ กล่าวอีกว่าสำหรับกรณีนายไมตรี จำเริญสุขสกุลและน.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ (ทนายจูน) ที่ถูกกล่าวถึงในรายงานฉบับนี้ ชี้แจงว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมและเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาล ไม่ได้ละเลยการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา หากบุคคลดังกล่าวมีการร้องขอ ก็จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือ เช่น การปรึกษากฎหมาย การช่วยเหลือทางคดี การประกันตัว และหากบุคคดังกล่าว ถูกข่มขู่ คุกคามหรือไม่ได้รับความปลอดภัย สามารถขอรับความคุ้มครองได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามพ.ร.บคุ้มครองฯพยานในคดีอาญา

นอกจากนี้ไดัเตรียมการออกเป็นนโยบายและปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น การเสนอปรับปรุงพ.ร.บคุ้มครองพยานในคดีอาญา ให้ครอบคลุมถึงผู้แจ้งเบาะแสในความผิดเกี่ยวกับคดีอาญาด้วย

"ในอนาคตหากบุคคลดังกล่าวถูกข่มขู่คุกคาม ไม่ได้รับความปลอดภัยสามารถขอรับการคุ้มครองตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดได้ รวมทั้งการเสนอร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... การบรรจุนโยบายในการส่งเสริมและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไว้ในร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 1 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ระหว่างปี พ.ศ.2562-2566 นี้"อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ กล่าว