posttoday

ไม่ต้านคสช.!จุตพรชวนทุกพรรคคุยกัน-ให้ประชาชนตัดสิน

15 กันยายน 2561

วิกฤตรอข้างหน้า เมื่อรธน.ปี60ถูกออกแบบมามีปัญหาเปิดประตูให้คนนอกนั่งนายกฯ"จตุพร"เสนอทุกพรรคการเมืองคุยกับคสช.ตกลงให้ประชาชนตัดสินบ้านเมืองจึงจะเดินหน้าต่อได้

วิกฤตรอข้างหน้า เมื่อรธน.ปี60ถูกออกแบบมามีปัญหาเปิดประตูให้คนนอกนั่งนายกฯ"จตุพร"เสนอทุกพรรคการเมืองคุยกับคสช.ตกลงให้ประชาชนตัดสินบ้านเมืองจึงจะเดินหน้าต่อได้

เมื่อ15 ก.ย.61 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เฟซบุ๊คไลฟ์ ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว “Jatuporn Prompan - จตุพร พรหมพันธุ์” ว่า เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกออกแบบให้เป็นปัญหา การจะแก้ไขปัญหาได้นั้นก็ต้องแก้ด้วยคนที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ของบ้านเมืองในวันข้างหน้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นในซีกของนักการเมือง ซีกของผู้มีอำนาจ แล้วประกาศต่อประชาชนเป็นสัญญาประชาคม หรือข้อตกลงร่วมกัน ถ้าใครละเมิดสัญญาที่ประกาศไว้กับประชาชน เขาต้องรับผิดชอบต่อประชาชนเอง เพราะวิกฤตที่รออยู่ข้างหน้านั้น ไม่ว่าเราจะได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอกหรือคนในตามที่รัฐธรรมนูญได้เปิดประตูเอาไว้

ในรัฐธรรมนูญปี 2534 เปิดประเด็นหลักเอาไว้แค่ 2 ประเด็น คือ ที่มาของนายกฯ ไม่ได้มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้มาจากประชาชน แต่ประชาชนยินยอมช่วงร่างรัฐธรรมนูญ เพราะผู้มีอำนาจในขณะนั้นประกาศว่า ไม่รับตำแหน่ง และประเด็นประธานรัฐสภาไม่ได้มาจากประธานสภาผู้แทนราษฎร นั่นนำพาสู่เหตุการณ์พฤษภา 2535 เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เปิดประตูให้กับนายกฯคนนอกและนายกฯคนใน รวมทั้งมีวุฒิสภาในระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ซึ่ง 5 ปีมีนัยยะควบไปถึง 8 ปี และที่สำคัญคือมีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่การดำรงอยู่ของนายกรัฐมนตรีนั้นขึ้นอยู่กับสภาผู้แทนราษฎร ฉะนั้น ถ้าการโหวตเลือกนายกฯคนนอกได้เสียง 126+250 เสียง เกินครึ่งหนึ่งของรัฐสภาจากจำนวนเต็ม 750 คน แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถที่จะอยู่ได้ เพราะได้เสียงข้างมากในที่ประชุมของ 2 สภา แต่จะถูกอภิปรายโดยสภาเดียว และพ้นโดยสภาเดียวคือสภาผู้แทนราษฎร

“เมื่อรัฐธรรมนูญมันถูกออกแบบให้เกิดปัญหากันแบบนี้ ผมก็เลยต้องชวนกันว่าคุยกันสิ ผมไม่ชวนให้พรรคการเมืองออกมาต่อต้าน คสช.นะครับ แต่ผมชวนให้พรรคการเมืองคุยกับ คสช.ให้ตกลงกันเสียว่าถ้าประชาชนเขาตัดสินใจอย่างไรนั้น วุฒิสภาทำตามเจตนารมณ์ของสภาผู้แทนราษฎร บ้านเมืองมันจึงจะเดินต่อไปได้ เสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรมันไปไม่ได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือว่า แม้ว่าคิดจะได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร วิธีการต่างๆนั้นในระหว่างทางอันนี้ ก็จะอธิบายความตามลำดับที่จะสะสมเรื่องราวกันไป” นายจตุพร กล่าว

ในสภาผู้แทนราษฎรนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แน่นอนคนที่ไม่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในระบบรัฐสภาอันนี้ไม่สามารถที่จะทนทานได้ โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยผ่านมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีอำนาจและมีความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ นี่คือโลกความเป็นจริง ยิ่งนายกฯคนในความต้านทานต่ำอยู่แล้ว

ส่วนการได้เสียงในสภาผู้แทนราษฎร 376 ถ้าว่าตามเนื้อรัฐธรรมนูญนั้น ในสภาผู้แทนราษฎรเป็นเรื่องที่ยาก เพราะการเลือกตั้งมันถูกจำกัดด้วยบัตรใบเดียว ยิ่งได้พื้นที่มากเท่าไร ปาร์ตี้ลิสต์ยิ่งหายมากที่สุด พรรคที่ได้ลำดับที่ 1 ได้พื้นที่มาก ปาร์ตี้ลิสต์อาจจะได้น้อยที่สุดในบรรดาพรรคใหญ่ก็เป็นได้

“รวมทั้ง องค์กรอิสระมีอำนาจมากกว่ารัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้น เราเห็นสถานการณ์ที่ผ่านมาว่า เกิดอะไรกันขึ้น และการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 บอกให้ทำได้แต่ยาก เหมือนอนุญาตให้ไปดวงอาทิตย์ ท้ายที่สุดใครก็จะไปไม่ถึง ยกเว้นจะมีปาฏิหาริย์อย่างเดียวเท่านั้น” นายจตุพร กล่าว