posttoday

"บิ๊กฉัตร"โชว์ทูต20ประเทศยันไทยลุยแก้ไอยูยู

12 กันยายน 2561

“รองนายกรัฐมนตรี”โชว์พังซากเรือประมงต่อหน้าทูต 20 ประเทศ มั่นใจประสิทธิภาพตรวจสอบย้อนกลับ ยันไทยคุมเข้มแก้ปัญหาไอยูยู

“รองนายกรัฐมนตรี”โชว์พังซากเรือประมงต่อหน้าทูต 20 ประเทศ มั่นใจประสิทธิภาพตรวจสอบย้อนกลับ ยันไทยคุมเข้มแก้ปัญหาไอยูยู

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี  นำคณะเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย จำนวน 20 ประเทศ  จากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศสมาชิกอาเซียนลงพื้นที่ จ.สมุทรสาครเพื่อตรวจติดตามการรื้อทำลายซากเรือประมง จำนวน 9 ลำ กลางแม่น้ำท่าจีน  พร้อมนำชมการยกระดับประสิทธิภาพระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ของประเทศไทยที่ได้มาตรฐาน  โดยมีผู้แทนจาก ศปมผ. กรมประมง และกรมเจ้าท่า ร่วมให้การต้อนรับ

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ของประเทศไทยมีความก้าวหน้าและเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยขณะนี้รัฐบาลไทยสามารถบริหารจัดการเรือประมงไทยได้ทั้งระบบ  ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ทำให้ภาพลักษณ์การประมงของไทยในสายตาชาวโลกเกิดเป็นภาพบวก  เช่น สร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรประมง สามารถแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในระบบการประมงของประเทศ   ซึ่งที่ผ่านมา ภาครัฐมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นที่จะสร้างความชัดเจนของสถานะกองเรือประมงไทย ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรือประมงให้ถูกกฎหมายอยู่ในระบบ  ซึ่งขณะนี้รัฐบาลโดยกรมเจ้าท่าสามารถประกาศรายชื่อเรือประมงที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ทั้งหมดจำนวน 10,743 ลำ ส่วนเรือประมงที่ถือว่าอยู่นอกระบบอย่างถาวรไม่สามารถกลับเข้าสู่ทะเบียนเรือไทยและเทียบท่าในประเทศไทยได้อีกต่อไป มีจำนวน  6,315 ลำ  และมีเรือประมงที่ผุพังแล้วต้องดำเนินการรื้อทำลายซากเรือประมงนอกระบบทะเบียนเรือไทยตาม พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย มาตรา 121 เพื่อไม่ให้มีการนำไปแอบแฝงกระทำผิดกฎหมายได้อีกต่อไป อีกจำนวน 861 ลำ  โดยภาครัฐยังได้มีการบริหารจัดการในการทำประมงให้ถูกต้องปราศจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยมีการปรับปรุงกฎหมาย พรก. การประมง พ.ศ. 2558 และที่เพิ่มเติม มีการสร้างระบบการปฏิบัติงานอย่างมีแบบแผนอันจะทำให้เกิดการทำประมงที่ยั่งยืน  มีการยกระดับความร่วมมือกับนานาชาติเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการได้ทั้งระบบ  ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนประมงชายฝั่งให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการดูแลรักษาบริหารจัดการการทำประมงร่วมกับภาครัฐ

นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขเรื่องของแรงงานประมงทั้งระบบไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการปรับปรุงเพิ่มเติมกฎหมายคนต่างด้าวสำหรับแรงงานภาคประมง การจัดทำระบบแรงงานข้ามชาติ ซึ่งจะต้องได้มาซึ่งแรงงานประมงที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับการประมงของไทยไร้ซึ่งการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย

"บิ๊กฉัตร"โชว์ทูต20ประเทศยันไทยลุยแก้ไอยูยู

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่าวันนี้มีการทำลายซากเรือทั้งหมด 9 ลำ จากจำนวน 44 ลำของ จ.สมุทรสาคร ซึ่งภาครัฐมีการดำเนินการตามกระบวนการอย่างเป็นระบบมีการสำรวจและประชาสัมพันธ์ก่อนหน้านี้ภายใน 30 วันตามระเบียบ การรื้อทำลายเช่นนี้จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนครบ 861 ลำ เพื่อกำจัด ซากเรือประมงนอกระบบทะเบียนเรือไทยให้หมดสิ้นไปจากน่านน้ำไทย หลังจากเป็นปัญหาเรื้อรังมาหลายสิบปี

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า  รัฐบาลไทยยังได้ให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตของสินค้าประมงโดยจะต้องมีคุณภาพมาตรฐาน และไม่ได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย  รวมถึงสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ในทุกขั้นตอน  ซึ่งปัจจุบันไทยได้มีการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าสัตว์น้ำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ  ระบบตรวจสอบย้อนกลับสำหรับสัตว์น้ำที่จับโดยเรือประมงไทย  และสัตว์น้ำที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยสัตว์น้ำที่จับโดยเรือประมงไทย  ได้มีการยกระดับประสิทธิภาพระบบตรวจสอบย้อนกลับเพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงทะเลได้ตลอดสายการผลิตพร้อมกำหนดให้เรือประมงที่จับสัตว์น้ำต้องจดบันทึกการทำการประมง (logbook) ตามความเป็นจริงทุกครั้ง และมีรายละเอียดของชนิด สัตว์น้ำ ปริมาณสัตว์น้ำ บริเวณที่จับ และเครื่องมือการทำประมง  เมื่อนำสัตว์น้ำขึ้นที่ท่าเทียบเรือ ชนิดและปริมาณสัตว์น้ำที่ขึ้นท่าจะถูกรายงานโดยท่าเทียบเรือ และเมื่อมีการซื้อขายสัตว์น้ำ ผู้ซื้อผู้ขายต้องกรอกข้อมูลชนิดสัตว์น้ำและปริมาณที่ซื้อขายลงในเอกสารกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (Marine Catch Purchasing Document : MCPD) เพื่อให้มีข้อมูลในการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสัตว์น้ำได้ทุกขั้นตอนตลอดสายการผลิต

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของสัตว์น้ำที่นำเข้าจากต่างประเทศ  ได้กำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำจากการประมง  IUU เข้ามายังประเทศไทยในทุกช่องทางของการนำเข้า ทั้งทางเรือ บก และทางอากาศ โดยก่อนที่ กรมประมงจะอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำ จะต้องมีการตรวจสอบสัตว์น้ำและเอกสารต่าง ๆ เช่น catch certificate, Logbook ใบอนุญาตทำการประมง พฤติกรรมเรือ เส้นทางเดินเรือ (AIS Tracking) ข้อมูลการทำการประมง  เป็นต้น หากข้อมูลถูกต้องจึงจะอนุญาตให้นำเข้าต่อไป  โดยจะมีการออกหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำนำเข้า (Import movement document; IMD) ให้กับผู้นำเข้าสัตว์น้ำ ซึ่งเอกสารดังกล่าวจะแสดงถึงแหล่งที่มาของสัตว์น้ำ ข้อมูลชนิด และปริมาณสัตว์น้ำที่นำเข้า รวมถึงชื่อผู้ซื้อสัตว์น้ำ ซึ่งจะทำให้ตามสอบได้ตลอดสายการผลิต  นอกจากนี้ ได้มีการเพิ่มมาตรการป้องกันการสวมน้ำหนักสัตว์น้ำ โดยสุ่มตรวจการชั่งน้ำหนัก ปลาทูน่าที่โรงงานในช่วงเวลากลางคืน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้สุ่มตรวจไปแล้ว 50 ครั้ง ใน 20 โรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดนครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสงขลา

"บิ๊กฉัตร"โชว์ทูต20ประเทศยันไทยลุยแก้ไอยูยู


 
นอกจากนี้ ยังได้ปฏิรูประบบการตรวจสอบย้อนกลับ โดยยกระดับและพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์  (IT database system) ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. ระบบตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำที่จับจากเรือประมงไทย (Thai Flagged Catch Certification System; TF) และ 2. ระบบตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำนำเข้า (PSM and Processing Statement linked System, PPS) เพื่อให้สามารถตามสอบเส้นทางไหลของสัตว์น้ำ (Physical Flow) ได้อย่างรวดเร็วตลอดสายการผลิต  ตั้งแต่การนำเข้าสัตว์น้ำ การขึ้นท่าสัตว์น้ำ การกระจายสัตว์น้ำ การแปรรูป การออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ (catch certificate) การออกใบรับรองการแปรรูปสัตว์น้ำ (Processing Statement) ตลอดจนถึงกระบวนการสุดท้าย คือ การส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ รวมถึงได้เพิ่มฟังก์ชั่นตรวจสอบอัตโนมัติ (automatic cross-checking) ในขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้การควบคุมเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการจัดการได้มากยิ่งขึ้น
 
ทั้งนี้ ผลของการพลิกโฉมหน้าระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงเพื่อการส่งออก นอกจากจะเป็นการยกระดับคุณภาพกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับได้ครบวงจรเหนือระดับมาตรฐานสากลแล้ว ยังทำให้เกิดความรวดเร็วในการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ (catch certificate) ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่ค้าทั่วโลก จากเดิมใช้เวลา 5 วัน ลดเหลือเพียง 3 วัน ทำให้สินค้าประมงไทยเป็นที่ยอมรับ มีความโปร่งใส ลดต้นทุนผู้ประกอบการ เสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
 
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า  การที่เอกอัครราชทูตและผู้แทนสถานทูตต่าง ๆ เข้าเยี่ยมชมระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงไทยในครั้งนี้ จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงเส้นทางของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ตั้งแต่การจับสัตว์น้ำขึ้นมาจากทะเล ผ่านกระบวนการขึ้นท่า ทั้งจากในและต่างประเทศ ส่งต่อเข้ากระบวนการผลิตในโรงงาน จนได้เป็นผลิตภัณฑ์ประมงเตรียมพร้อมสำหรับการส่งออก ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน เพื่อให้นานาประเทศเกิดความมั่นใจและเชื่อถือว่าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของประเทศไทย เป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจากการทำประมงผิดกฏหมาย

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวย้ำว่า เป้าหมายรัฐบาลเน้น 3 หลัก ประกอบด้วยเรือประมงที่เหมาะสม แรงงานและวิธีการทำประมงที่ถูกต้อง โดยแก้ไขกฎหมายให้ถูกต้องเหมาะสม

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับในเรื่องของการทำงาน ให้เกิดการประมงที่ยั่งยืนและทุกอย่างสามารถชี้แจงต่อประชาชน สาธารณชน และสื่อมวลชนได้ ที่สำคัญสินค้าประมงจะต้องเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานตามหลักสากล อย่างไรก็ตามงานที่ทำอยู่วันนี้ถือว่าพึงพอใจ พร้อมที่จะให้คณะกรรมการจากนานาประเทศ เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งแก้ไขปัญหาให้เป็นตามหลักสากลตามมาตรฐานที่กำหนด คาดว่าปลายเดือนนี้ทางคณะกรรมการของอียูจะเข้ามาตรวจสอบ รัฐบาลเดินหน้าเรื่องนี้ เราไม่ได้กังวลเรื่องใบเหลืองใบแดง แต่ต้องทำเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาประมงอย่างยังยืน และร่วมงานกับอาเซียนด้วย ที่สำคัญต้องขอบคุณพี่น้องชาวประมง ที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลด้วย

ด้านนายเปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทยกล่าวว่า พอใจการทำงานของรัฐบาลไทย ที่มีความมุ่งมั่นในการตั้งใจแก้ปัญหานี้ ส่วนทางด้านเทคนิคเขาไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ หากรัฐบาลไทยมีระบบอะไรที่นำมาพัฒนาได้ ก็ขอให้ดำเนินการในส่วนนั้น

ด้านนายวาลเดอมาร์ ดูบันยอฟสกี เอกอัครราชทูตโปรแลนด์  ประจำประเทศไทศ กล่าว แสดงความยินดีกับไทยที่มีระบบที่เป็นมืออาชีพและทันสมัยมาก รวมถึงระบบตรวจสอบย้อนกลับ