posttoday

ยื่นปปช.สอบมท.1ปมขยะ

21 สิงหาคม 2561

"ศรีสุวรรณ" ยื่น ป.ป.ช. เอาผิด "พล.อ.อนุพงษ์" คาใจลูกชายขอ เข้าพบ ผวจ.ภูเก็ต คุยการบริหารจัดการ ขยะ

"ศรีสุวรรณ" ยื่น ป.ป.ช. เอาผิด "พล.อ.อนุพงษ์" คาใจลูกชายขอ เข้าพบ ผวจ.ภูเก็ต คุยการบริหารจัดการ ขยะ

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กระทำการใช้อำนาจรัฐมนตรีอาจเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 กรณีออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการบริหารจัดการขยะมูลฝอยปี 2560 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการขยะมูลฝอย 324 แห่ง เพื่อนำไปสู่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะในแต่ละพื้นที่ ทำให้มีเอกชนวิ่งเข้าหาผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเอื้อประโยชน์ในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าจำกัดขยะ

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้ากำจัดขยะแต่ละแห่งมี มูลค่า 1,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่า รวมทั้งหมด 3 แสนกว่าล้านบาท ที่ผ่านมามีกำหนดการของบุตรชาย พล.อ.อนุพงษ์ เข้าพบ ผวจ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2561 เพื่อพูดคุยเรื่องการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ถือเป็นเรื่องไม่ปกติ เพราะไม่ใช่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องการได้มาซึ่งผลประโยชน์อะไรหรือไม่

นอกจากนี้ ยังพบมีพฤติการณ์น่าสงสัยในลักษณะเดียวกันที่ จ.นครราชสีมา ที่มีบริษัทต่างๆ ร่วม 100 บริษัท ไปร่วมประมูลบริหารจัดการขยะในพื้นที่ โดยมีบุคคลระดับสูงในรัฐบาลเข้าไปพูดคุยกับ ผวจ.นครราชสีมา เพื่อให้โครงการนี้แก่คนใกล้ชิดกับรัฐบาล เพราะที่ผ่านมา พล.อ.อนุพงษ์ ระบุชัดเจนถ้ามีข้อสงสัยอะไรให้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบได้ จึงมายื่นเรื่อง ต่อ ป.ป.ช.

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรม ส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวง มหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลนี้ได้กำหนดให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทยจึงได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการขยะต่อ ครม.

สำหรับประเด็นงบประมาณ ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขงบประมาณที่ชัดเจน เนื่องจากนโยบายกำหนดให้โครงการเป็นการ ร่วมทุนกับเอกชน ไม่ได้ให้ใช้งบประมาณของรัฐ หรือของ อปท. โดยเอกชนต้องร่วมดำเนินการผ่านคลัสเตอร์ที่ขณะนี้ ได้มีการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ 324 แห่ง ของ อปท. เพื่อแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย โดยมีคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูล และมูลฝอยระดับจังหวัดพิจารณา

นายสุทธิพงษ์ ยืนยันว่า กรม สถ.ไม่มีการจัดตั้งองค์กรเป็นการภายในเพื่อพิจารณาโครงการเป็นการเฉพาะ แต่การบริหารจัดการขยะปัจจุบัน ได้สร้างกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลาง โดยมีตัวแทนหลายกระทรวงเข้าร่วม

นอกจากนี้ ในขั้นตอนของการเสนอโครงการของ อปท.นั้น ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และใน ขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการก่อนก่อสร้าง ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชนอีกครั้งเช่นกัน ดังนั้น การจัดทำโครงการได้เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น หากประชาชนไม่เห็นด้วยโครงการก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า โครงการไฟฟ้าพลังงานขยะไม่ได้เป็นการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทยแต่เพียงหน่วยเดียว การพิจารณาอยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการตั้งแต่ระดับจังหวัดและระดับกระทรวง