posttoday

นายกฯเผยผลลุยสางหนี้นอกระบบลั่นไม่ปล่อยให้"ทำนาบนหลังคน"อีกแล้ว

17 สิงหาคม 2561

นายกฯเผยผลปฎิบัติการลุยสางหนี้นอกระบบแก้สัญญาไม่เป็นธรรมให้ลูกหนี้ได้แล้วกว่า2แสนราย ชี้การทำนาบนหลังคนถือเป็นเรื่องเลวร้าย ลั่นไม่ปล่อยให้เกิดขึ้นอีกต่อไป

นายกฯเผยผลปฎิบัติการลุยสางหนี้นอกระบบแก้สัญญาไม่เป็นธรรมให้ลูกหนี้ได้แล้วกว่า2แสนราย ชี้การทำนาบนหลังคนถือเป็นเรื่องเลวร้าย ลั่นไม่ปล่อยให้เกิดขึ้นอีกต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร รวมถึงอาชีพอิสระต่างๆ   ทั้งนี้ จากการสำรวจของหน่วยงานราชการพบว่ามีประชาชนเป็นลูกหนี้ราว  9 แสนราย จากเจ้าหนี้เกือบ 18,000 ราย มีมูลหนี้รวมกว่า 52,000ล้านบาท ตั้งแต่เริ่มดำเนินการเดือนก.ค. เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ร่วมกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงยุติธรรม ระดับจังหวัด เดินหน้าเจรจาไกล่เกลี่ย ทำข้อตกลงประนีประนอม และปรับโครงสร้างหนี้ให้ความเป็นธรรมกับทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้แล้วกว่า 2 แสนราย

ขณะเดียวกัน ได้ร่วมกันใช้มาตรการทางกฎหมายกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ไม่ร่วมมือผ่าน "ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันปราบปรามการฉ้อโกงทรัพย์สินของประชาชน เรียกชื่อย่อว่า ศปฉช." ณ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ทั่วประเทศ และนครบาล ซึ่งเราได้เห็นภาพการดำเนินการไปแล้ว จากรายการ "เดินหน้าประเทศไทย" เมื่อวันเสาร์ที่ 11สิงหาคม ที่ผ่านมา สิ่งสำคัญก็คือเรื่องราวความเลวร้ายของ "การทำนาบนหลังคน" ที่เราไม่สามารถจะปล่อยให้เกิดขึ้นอีกต่อไป ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถนำทรัพย์สินของประชาชนจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม กลับสู่มือผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งถูกเอาเปรียบด้วยอำนาจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นโฉนดที่ดินกว่า 7,000 ไร่ และรถยนต์จำนวนมาก คิดเป็นมูลค่า โดยรวมกว่า 3,000 ล้านบาท

ส่วนการเร่งรัดแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร  ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ "เฉพาะกิจ" เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานะครับ 3 เดือน เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สิน สามารถตกลงปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ และ เข้าซื้อหนี้ของเกษตรกร จากสถาบันการเงินเจ้าหนี้ เช่น ธ.ก.ส. สหกรณ์การเกษตร และ ธนาคารพาณิชย์ทั่วไป รวมประมาณ 36,000 ราย มูลค่าหนี้ราว 6,000 ล้านบาท โดยสามารถช่วยลดยอดหนี้แต่ละรายลงร้อยละ 50 หยุดดอกเบี้ยระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จมากที่สุด ในรอบ 19 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการตั้งกองทุนฯ มา ในปี 2542

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2549 - 2557 การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดำเนินการได้เพียง 29,000 ราย เท่านั้น จากจำนวนสมาชิกเกษตรกรที่ลงทะเบียนหนี้สินไว้ราว 460,000ราย   เห็นไหมครับ มีความแตกต่างกันอยู่มาก เราก็พยายามจะแก้ไขปัญหานี้ และจะต้องเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรลูกหนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถชำระหนี้ตามสัญญาใหม่ได้ โดยได้กำชับให้สำนักงานกองทุนฯ ไปหาแนวทางฟื้นฟูอาชีพ ร่วมกับ ธ.ก.ส. และกรมส่งเสริมการเกษตรต่อไป.