posttoday

รัฐบาลกางแผน3มาตรการแก้วิกฤตจราจรกรุง

17 สิงหาคม 2561

นายกฯกางแผนแก้จราจรกรุงแบ่งงานเป็น3ระยะ ขยายการสัญจรทางน้ำ เพิ่มรถขสมก.ขนคนไปรถไฟฟ้า ลดปริมาณคับคั่งในพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ สร้างวัฒนธรรมการใช้ระบบขนส่ง

นายกฯกางแผนแก้จราจรกรุงแบ่งงานเป็น3ระยะ ขยายการสัญจรทางน้ำ เพิ่มรถขสมก.ขนคนไปรถไฟฟ้า ลดปริมาณคับคั่งในพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ สร้างวัฒนธรรมการใช้ระบบขนส่ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า การแก้ไขปัญหาการจราจรในกทม.ขณะนี้รัฐบาลจัดทำมาตรการรองรับเพื่อจะแก้ปัญหาการจราจรในกทม.เป็นแผนระยะสั้นระยะกลาง และระยะยาว ดังนี้ แผนระยะสั้น ก็ได้แก่การบริหารจัดการกระแสการจราจรบนท้องถนน เช่น ไฟจราจร จุดกลับรถ จุดตัดรถไฟการเข้มงวดกวดขันวินัยจราจร เพิ่มมาตรฐานเรือโดยสารเพื่อให้การสัญจรทางน้ำ เป็นทางเลือกลดเวลาการเดินทาง ปรับหรือเพิ่มเส้นทางรถ ขสมก. ทำรถที่จะเชื่อมต่อที่เรียกว่า “ฟีดเดอร์”เอาคนไปขึ้น รถไฟฟ้าต้องเชื่อมต่อกัน ขสมก.ต้องปรับหรือเพิ่มเส้นทางให้มากยิ่งขึ้นรวมทั้งเพิ่มรถโดยสารรับส่งระยะสั้นที่ส่งต่อไปขึ้นรถไฟฟ้าในรอบเขตพื้นที่วิกฤต มาตรการเคลื่อนย้ายรถเสียรถจอดข้างทางผิดกฎหมายรถที่เกิดอุบัติเหตุให้ได้เร็วที่สุดแผนระยะกลาง 1 - 3 ปี การกำหนดสิทธิการผ่านในบางพื้นที่ เช่น พื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ เพื่อลดปริมาณการจราจร ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงข่ายการจราจร และการขนส่งสาธารณะ ให้มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกัน เช่น การทำช่องทาง"บัสเลน"ต้องดูแลกวดขันการปฏิบัติตามกฎกติกาอย่างเคร่งครัดด้วย และแผนระยะยาว 3 ปีขึ้นไป อาทิ ใช้มาตรการจำกัดสิทธิ์  มาตรการด้านการเงินพื้นที่ที่มีความหนาแน่นโครงข่ายรถไฟฟ้า ไม่ต่ำกว่า 0.2 กิโลเมตร ต่อตารางกิโลเมตร เพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ  การเดินทางที่ไม่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล  และ การปลูกฝังจิตสำนึก วินัย น้ำใจการใช้รถใช้ถนน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาจราจรได้อย่างยั่งยืน

"ได้สั่งการให้เพิ่มเส้นทางคมนาคมทางน้ำในการเดินทาง คู่ขนานไปกับถนนสายหลัก เพื่อให้ประชาชนเลือกใช้บริการได้สะดวกขึ้น บรรเทาจราจรติดขัดทางถนนควบคู่กันไปกับการก่อสร้าง และในเรื่องของการเตรียมการจัดหาการใช้ระบบดิจิทัลมาควบคุมการจราจร ในเขตเมือง - ทางด่วน - เส้นทางที่แออัด - ไฟเขียวไฟแดง - เส้นทางอ้อมผ่าน ในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่ก่อสร้างให้ได้โดยเร็ว ขอทำความเข้าใจกับประชาชนว่าบางครั้งการอ้อมผ่านบ้างจะดีกว่ารถติดนานๆ บนเส้นทางเดิมๆ ที่เสียเวลา เสียเชื้อเพลิง" นายกรัฐมนตรี กล่าว

นอกจากนี้ จะขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ก่อสร้างถนน ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการลดช่องทางจราจรให้มีการตั้งป้าย ให้สัญญาณล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ เมื่อก่อสร้างไปแล้วตรงไหนสร้างเสร็จแล้ว ก็บีบให้เล็กลงไม่ใช่รักษาพื้นที่ก่อสร้างมากไปตลอดจนกว่าจะสร้างเสร็จ อย่างนี้ไม่ได้ก็ต้องค่อยๆ ลดพื้นที่ลงไปให้ได้ตลอดระยะเวลาที่มีการก่อสร้างตรงไหนเสร็จ ก็รีบแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุด้วย ขอให้ทุกคนทำหน้าที่ในส่วนของตนในการเคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ผู้ใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ต้องมีวินัย คิดถึงเพื่อนร่วมทางให้มากยิ่งขึ้น.