posttoday

สนช.เผยชงแก้กฎหมายกกต.หวังได้ผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ไร้การครอบงำ

06 สิงหาคม 2561

สมาชิกสนช.ยันเสนอแก้กฎหมายกกต.หวังได้ผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ไม่ถูกครอบงำจากฝ่ายการเมือง

สมาชิกสนช.ยันเสนอแก้กฎหมายกกต.หวังได้ผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ไม่ถูกครอบงำจากฝ่ายการเมือง

นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะผู้รวบรวมรายชื่อสนช. เสนอแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง กล่าวว่า สาระสำคัญของการเสนอแก้ไขร่างดังกล่าว คือ การเพิ่มมาตรา 28/1 กำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง มาทำหน้าที่คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง แทนการให้ กกต.ไปออกระเบียบคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งเหมือนในพ.ร.บ. ฉบับปัจจุบัน

ทั้งนี้ เนื่องจาก สนช. หลายคนห่วงใยการให้ กกต. ไปออกระเบียบการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง อาจมีความหละหลวม ไม่รอบคอบรัดกุมเพียงพอ เพราะระเบียบ กกต. สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามยุคสมัยของ กกต. แต่ละชุดที่เข้ามาทำหน้าที่ อาจเป็นช่องว่างให้การได้มาซึ่งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ถูกครอบงำจากฝ่ายการเมืองได้ในอนาคต ดังนั้น จึงควรกำหนดที่มาผู้ตรวจการเลือกตั้งให้ชัดเจนว่า มาจากคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี ระบุลงในพ.ร.บ. โดยตรง ทั้งนี้ โครงสร้างของคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง มี 7 คน ประกอบด้วย 1.ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน 2.หัวหน้าผู้พิพากษาจังหวัด 3.หัวหน้าสำนักงานอัยการจังหวัด 4.ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด 5.ประธานหอการค้าจังหวัด 6.ประธานอุตสาหกรรมจังหวัด และ 7.ผอ.กกต.จังหวัด ทำหน้าที่คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งอย่างน้อย 16 คนต่อจังหวัด เพื่อส่งต่อให้ กกต. คัดเลือกให้เหลือ 8 คนต่อจังหวัด

“หากให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งมีที่มาจากระเบียบ กกต. อาจเกิดความไม่เป็นเอกภาพในการทำงาน เพราะ กกต. ชุดเก่าเป็นผู้คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง แต่ กกต. ชุดใหม่เป็นผู้เข้ามาปฏิบัติงาน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหัวแล้ว ควรเปลี่ยนลำตัว แขนขาด้วย ไม่ใช่เอาหัวมาสวมอย่างเดียว อาจเกิดปัญหาการทำงานได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ได้รับการคัดเลือกจาก กกต. ชุดปัจจุบันไม่ดี แต่ต้องการให้ที่มาผู้ตรวจการเลือกตั้งมีความชัดเจน รัดกุม ไม่มีเจตนาต้องการล้มผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ได้รับการคัดเลือกจาก กกต. ชุดปัจจุบัน” นายมหรรณพ กล่าว

นอกจากนี้ ผู้ผ่านการคัดเลือกจาก กกต. ชุดปัจจุบันก็มีสิทธิกลับมาดำรงตำแหน่งได้ หากผ่านเงื่อนไขตามกฎหมาย กกต. ที่เสนอแก้ไขใหม่ ในฐานะที่เสนอขอแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ได้ซีเรียสจะต้องแก้ไขให้ได้ตามที่เสนอไป หากรัฐบาลหรือกกต.เห็นว่า มีทางออกอื่นที่ดีกว่าก็ยอมรับ ไม่ได้ดันทุรังต้องเอาให้ได้ แค่เป็นห่วงว่า ระเบียบเดิมที่ทำไปอาจเกิดปัญหาในอนาคต เป็นการทำด้วยความหวังดี ไม่ได้มีใบสั่งจากใครให้แก้ไข ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ที่เสนอขอแก้ไขอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ยังไม่รู้จะผ่านความเห็นชอบจากสนช.หรือไม่

ขณะที่ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. กล่าวว่า เป็นหนึ่งในสนช.ที่ร่วมลงชื่อขอแก้ไขร่างพ.ร.บ.กกต. โดยมีสาระสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า กกต.ชุดปัจจุบันรีบร้อนตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ไม่รอ กกต. ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ คล้ายกับกรณีโยกย้ายข้าราชการภายใต้รัฐมนตรีคนที่จะหมดวาระ ขณะที่รัฐมนตรีคนใหม่ที่จะเข้ามาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตรรกะที่เกิดขึ้นจึงเห็นด้วยว่าการกระทำของ กกต. ชุดปัจจุบันน่าเกลียด

“เมื่อพูดถึงมารยาทแล้วไม่ควรทำ จึงลงนามรับรอง เพราะเห็นว่า เพื่อไม่ให้มีปัญหาควรรอ กกต. ชุดใหม่ดำเนินการเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง สิ่งที่สนช. ทำไม่ใช่การแทรกแซงอำนาจของ กกต. ชุดปัจจุบัน แต่อย่างน้อยควรดึงไว้หน่อย อย่างไรก็ตามในที่สุดร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้อาจแก้ไขหรือใช้ไม่ทันการเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพื่อเตรียมการเลือกตั้งก็ได้ เพราะยังมีหลายขั้นตอน ทั้งการเสนอไปยังครม. และการรอให้กกต. เสนอร่างกฎหมายมาประกบ และการรับฟังความเห็นประชาชน กว่าที่เรื่องนี้จะสำเร็จคงตั้งผู้ตรวจเลือกตั้งครบทั้งประเทศแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเสนอแก้ไขพ.ร.บ.กกต. เรื่องการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งในครั้งนี้ มีสนช.เข้าชื่อเสนอขอแก้ไขทั้งหมด 36 คน เป็นสนช.สายพลเรือนทั้งหมด ไม่มีสายทหารร่วมลงชื่อ เพื่อให้เห็นว่า ไม่มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้องในการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ โดยมีนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ เป็นแกนนำรวบรวมรายชื่อ และมีสนช.อาทิ นายกล้านรงค์ จันทิก นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ร่วมลงชื่อ

ทั้งนี้ เพราะเห็นว่ากระบวนการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งตามพ.ร.บ.กกต.ฉบับปัจจุบันยังไม่มีความรัดกุม โดยแนวทางแก้ไขจะไปเพิ่มเติมในบทเฉพาะกาลให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งชุดเก่าที่กกต.ชุดปัจจุบันสรรหาไว้แล้วให้พ้นสภาพไป และให้มีการดำเนินการสรรหาใหม่ตามกระบวนการที่นายมหรรณพนำเสนอในรอบนี้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลเห็นสอดคล้องด้วย ส่วนหนึ่งเนื่องจากรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งที่กกต.ชุดปัจจุบันเห็นชอบในขณะนี้ ส่วนใหญ่ถูกมองว่า อิงกับฝ่ายการเมืองบางขั้วมากเกินไป