posttoday

"อาทิตย์"แนะออกแบบระบบการเลือกตั้งใหม่ ขจัดการเมืองของกลุ่มมาเฟีย

02 สิงหาคม 2561

"อาทิตย์ อุไรรัตน์" แนะออกแบบระบบการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้การเมืองไทยเป็น "ระบอบสังคมธรรมาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

"อาทิตย์ อุไรรัตน์" แนะออกแบบระบบการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้การเมืองไทยเป็น "ระบอบสังคมธรรมาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการออกแบบระบบการเมืองใหม่ของไทยผ่านเฟซบุ๊ก Arthit Ourairat ไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ข้อเสนอ: การเมืองระบอบสังคมธรรมาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

การเมืองที่ผ่านมาและในปัจจุบัน ยังไม่ใช่เป็นการเมืองของประเทศชาติและประชาชน หรือเพื่อประชาชน

แต่ เป็นการเมืองของพรรคการเมือง ของกลุ่มมาเฟีย

ถ้าต้องการให้เป็นการเมืองของประชาชนและเพื่อประชาชน ต้องให้ประชาชนมีสิทธิ์ มีเสียง มีส่วนร่วมมากกว่านี้

ต้องออกแบบระบบการเมืองใหม่

เริ่มต้นจากการออกแบบระบบการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรใหม่ ในแนวทางดังนี้ เช่น

1. จัดการเลือกตั้งเป็น 2 ระดับ คือ

1.1 ระดับจังหวัด จังหวัดละ 3 คน

1.2 ระดับเขตเลือกตั้ง เขตละ 1 คน

รวม 2 ระดับ ทั้งประเทศ 500 คน

2. การเลือกตั้งทั้ง 2 ระดับ ให้กระทำเป็น 2 ขั้นตอน คือ การเลือกขั้นปฐมภูมิ หรือขั้นต้น หรือ ไพรมารี่ Primary และขั้นที่สอง คือการเลือกตั้งในระดับจังหวัด และการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง ซึ่งแบ่งตามจำนวนประชากร

3.การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเพื่อให้ได้ผู้แทน 1 คน ให้ดำเนินการดังนี้

3.1 การเลือกตั้งขั้นปฐมภูมิ หรือไพรมารี่ ให้ดำเนินการในเขตตำบลแต่ละตำบล ดังนี้

3.1.1 ให้ผู้เสนอตัวสมัครเป็นผู้แทนตำบล จะสังกัดพรรคการเมือง หรือ อิสระ และจะมีภูมิลำเนาในตำบลนั้นหรือไม่ก็ได้ แต่สมัครได้ตำบลเดียว โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดใด

3.1.2 ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในตำบลเลือกผู้หนึ่งผู้ใดที่เสนอตัวลงสมัคร หรือเสนอผู้อื่นอีกก็ได้

3.1.3 ผู้ได้รับเลือกตั้งต้องเป็นผู้ได้คะแนนสูงสุดและเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในตำบลนั้น

3.1.4 หากไม่มีผู้ได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงในตำบลนั้น ให้นำรายชื่อผู้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด 3 อันดับแรกมาให้ทำการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง จนได้ผู้ชนะการเลือกตั้ง

3.1.5 หากการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ในตำบล ยังไม่มีผู้ใดชนะการเลือกตั้ง ให้ถือว่า ตำบลนั้นไม่มีผู้แทนลงสมัครในเขตเลือกตั้งใหญ่

3.2 การเลือกตั้งขั้นที่สองในเขตเลือกตั้งใหญ่ ให้ผู้ชนะการเลือกตั้งจากตำบลต่างๆเป็นผู้สมัครลงเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใหญ่
ให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดที่เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนในเขตเลือกตั้งใหญ่ได้รับการเลือกตั้ง

3.2.1 หากไม่มีผู้ได้รับคะแนนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน ให้จัดการเลือกตั้งอีก โดยนำผู้ได้คะแนนสูงสุด 5-4-3-2 อันดับแรกตามลำดับลงแข่งขันอีก

4. การเลือกตั้งในเขตจังหวัด จังหวัดละ 3 คน ให้ดำเนินการในทำนองเดียวกัน คือ ให้ผู้สมัครในนามพรรคการเมืองก็ได้ สมัครอิสระก็ได้ หรือผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเสนอชื่อก็ได้ โดยผู้นั้นไม่จำเป็นต้องมีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้น แต่ลงสมัครได้ที่เดียว และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดใด

5. ให้ กกต จัดการจัดทำแผ่นพับ โปสเตอร์ เอกสารทั้งหมดและเวทีการหาเสียงให้ผู้สมัครทุกคนให้เสมอทัดเทียมกัน โดยห้ามผู้สมัครหาเสียงเอง

6. เมื่อได้ผู้แทนราษฎร 500 คนแล้ว ให้ปรึกษาหารือกัน และทูลเกล้าเสนอชื่อผู้สมควรจัดตั้งรัฐบาล 3 คน ให้พระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศต่อไป

ประเทศไทยก็จะได้การเมืองของประชาชนในระบอบสังคมธรรมาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง

ภาพประกอบข่าวจากแฟ้มภาพ