posttoday

ศาลฎีกาจำคุก 3-6 ปี "วัฒนา-พวก" ปิดคดีค่าโง่คลองด่าน

13 กรกฎาคม 2561

ศาลฎีกา จำคุก 3-6 ปี "วัฒนา อัศวเหม" พร้อมพวก ทุจริตก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน

ศาลฎีกา  จำคุก 3-6 ปี  "วัฒนา อัศวเหม" พร้อมพวก ทุจริตก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 13 กค.  ที่ศาลแขวงดุสิต ซ.สีคาม ถ.นครไชยศรี   ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ 254/2547 ที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง 1.กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี หรือ NVPSKG (ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องตั้งแต่ชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์) 2.บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง 3.นายพิษณุ ชวนะนันท์ กรรมการบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง  4.บริษัทประยูรวิศว์การช่าง  5.นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ กรรมการบริษัทประยูรวิศว์การช่าง 6.บริษัทสี่แสงการโยธา(1979)  7.นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล กรรมการบริษัทสี่แสงการโยธา 8.บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ 

9.นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล กรรมการบริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์  10.บริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์  11.นายรอยอิศราพร ชุตาภา กรรมการบริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์  12.บริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ 13.นายชาลี ชุตาภา กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ 14.นายประพาส ตีระสงกรานต์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ 15.นายชยณัฐ โอสถานุเคราะห์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ 16.บริษัท ปาล์ม บีช ดิเวลลอปเมนท์ 17.นางบุญศรี ปิ่นขยัน กรรมการบริษัท ปาล์ม บีชฯ 18.นายกว๊อกวา โอเยง  สัญชาติฮ่องกง ในฐานะผู้แทนบริษัท ปาล์ม บีชฯ และ 19.นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย (หนีคดีตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งศาลออกหมายจับไว้อยู่แล้ว) เป็นจำเลยที่ 1 - 19 ในความผิดฐานฉ้อโกงการจัดซื้อที่ดิน อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ เนื้อที่รวม 1,900 ไร่ มูลค่า 1.9 พันล้านบาท เพื่อก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน แต่ที่ดินนั้นกลับเป็นกลุ่มบริษัทจัดหามาแล้ว ที่ดินนั้นเป็นคลอง ถนนสาธารณะ และป่าชายเลน และฉ้อโกงสัญญาก่อสร้างฯ มูลค่าประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งคดีนี้จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

ซึ่งในส่วนของกิจการร่วมค้า NVPSKG จำเลยที่ 1นั้น ศาลได้พิพากษายกฟ้องไปแล้วตั้งแต่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ โดยคดีศาลสั่งประทับรับฟ้องไว้เฉพาะจำเลยที่ 2-19 เท่านั้น ปัจจุบันจึงเหลือจำเลยที่เข้าสู่กระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษารวม 18 ราย

โดย "ศาลแขวงดุสิต" ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 12 พ.ย.52 เห็นว่าจำเลยทั้ง 18 รายกระทำผิดจริง จึงพิพากษาให้ จำคุกจำเลยที่ 3, 5, 7, 9, 11 13-15, 17, 18 และนายวัฒนา จำเลยที่ 19 รวม 11คนๆละ 3 ปี

ส่วนจำเลยที่ 2, 4, 6, 8, 10, 12 ,16 ซึ่งเป็นบริษัทนิติบุคคล รวม 7 ราย ให้ปรับรายละ 6,000 บาท โดยจำเลยทั้งหมดยื่นอุทธรณ์สู้คดีเพื่อให้พิพากษายกฟ้อง ซึ่งระหว่างอุทธรณ์คดี จำเลยที่ 3, 5, 7, 9, 11 13-15, 17, 18 ได้ประกันตัวคนละ 1 ล้านบาท ส่วน "นายวัฒนา" จำเลยที่ 19 หลบหนีคดี ศาลจึงสั่งให้ออกหมายจับและปรับนายประกัน 

กระทั่งวันที่ 19 พ.ย.56 มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 18 ราย เนื่องจากเห็นว่าช่วงเวลาที่บริษัท ปาล์ม บีชฯ จำเลยที่ 16 ซื้อที่ดินเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียฯ ยังไม่แน่ชัดว่าโครงการฯจะใช้ที่ดินบริเวณใดบ้าง โดย "คพ." โจทก์ เพิ่งมีโครงการชัดเจนว่า จะใช้ที่ดิน ต.คลองด่าน ในเดือน ก.พ.2539 พยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าพวกจำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องหรือดำเนินการใดๆ ให้คณะกรรมการคัดเลือกของ คพ. เลือกที่ดินของ บริษัท คลองด่านมารีนฯ จำเลยที่ 12
    
ต่อมา "คพ." โจทก์ ได้ยื่นฎีกา ขอให้ศาลฎีกา กลับพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหมด

ขณะที่วันนี้ นายรอยอิศราพร ชุตาภา กรรมการบริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำเลยที่ 11 , นายชาลี ชุตาภา กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ ที่ 13  , นายชยณัฐ โอสถานุเคราะห์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ ที่ 15 , นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย ที่ 19 ที่ศาลเคยออกหมายจับไว้แล้วเพราะไม่ศาลเมื่อนัดอ่านคำพิพากษาครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าออกหมายจับครบ 1 เดือนแล้ว ยังไม่ได้ตัวมา ศาลจึงให้อ่านคำพิพากษาลับหลังทันทีในวันนี้

โดยเมื่อถึงเวลา องค์คณะศาลแขวงดุสิต ได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกาตรวจสำนวยประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า ตามทางนำสืบของ "คพ." โจทก์ รับฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 2,3,4,5,6,7,8,9,10,11,12,13,14,15,16,17,18,19 รวม 18 รายกระทำผิดตามฟ้อง

จึงพิพากษากลับเป็นว่า จำเลยทั้ง 18 ราย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 ฐานร่วมกันฉ้อโกงกรณีการซื้อที่ดิน 1.9 พันล้านบาท และฉ้อโกงกรณีสัญญาจ้างก่อสร้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น ที่ศาลล่างพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

ซึ่งการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษ จึงให้จำคุก นายพิษณุ ชวนะนันท์ กรรมการบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำเลยที่ 3 และนายรอยอิศราพร ชุตาภา กรรมการบริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์  จำเลยที่ 11 คนละ 6 ปี ใน 2 กระทง ฐานร่วมกันฉ้อโกงการซื้อที่ดิน 1.9 พันล้านบาท และฉ้อโกงสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท

ส่วนนายชาลี ชุตาภา กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ จำเลยที่ 13 , นายประพาส ตีระสงกรานต์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ  จำเลยที่ 14 , นายชยณัฐ โอสถานุเคราะห์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ ที่ 15 , นางบุญศรี ปิ่นขยัน กรรมการบริษัท ปาล์ม บีชฯ  ที่ 17 , นายกว๊อกวา โอเยง  สัญชาติฮ่องกง ในฐานะผู้แทนบริษัท ปาล์ม บีชฯ ที่ 18 และนายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย (หนีคดีตั้งแต่ปี 2552) ที่ 19 ให้จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันฉ้อโกงกรณีการจัดซื้อที่ดิน

สำหรับนายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ กรรมการบริษัทประยูรวิศว์การช่าง จำเลยที่ 5 , นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล กรรมการบริษัทสี่แสงการโยธา จำเลยที่ 7 , นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล กรรมการบริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ จำเลยที่ 9 ให้จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันฉ้อโกงกรณีสัญญาการก่อสร้าง (รวมจำคุกผู้บริหารบริษัทก่อสร้างทั้งหมดรวม 11 คน)

สำหรับบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำเลยที่ 2 กับ บริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ ที่ 10 นั้นให้ปรับรายละ 2 กระทง รวมเป็นเงิน 12,000 บาท ฐานร่วมกันฉ้อโกงกรณีการซื้อที่ดินและฉ้อโกงสัญญาจ้างก่อสร้างงาน และปรับ บริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ ที่ 12 กับบริษัท ปาล์ม บีช ดิเวลลอปเมนท์ ที่ 16 รายละ 6,000 บาท ฐานร่วมกันฉ้อโกงกรณีการซื้อที่ดิน

สำหรับ บริษัทประยูรวิศว์การช่าง จำเลยที่ , บริษัทสี่แสงการโยธา (1979) ที่ 6 , บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำเลยที่ 8 ให้ปรับรายละ 6,000 บาท ฐานร่วมกันฉ้อโกงสัญญาจ้างก่อสร้างงาน (รวมปรับบริษัทจำเลยทั้งหมด 7 แห่ง)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ในเวลา 15.30 น. บรรดาญาติจำเลยกว่า 10 คน ได้เตรียมอาหารกล่องสำหรับอาหารมื้อเย็น และยารักษาโรคประจำตัวของจำเลยเตรียมไว้ให้กับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เพื่อนำไปให้เมื่อจำเลยต้องเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป

ซึ่งจำเลยที่ถูกตัดสินจำคุก 11 คนนั้น วันนี้ถูก นำตัวไปคุมขังในเรือนจำ รวม 5 คน คือนายพิษณุ ชวนะนันท์ กรรมการบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำเลยที่ 3 ที่ศาลตัดสินจำคุก 6 ปี ,นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ กรรมการบริษัทประยูรวิศว์การช่าง จำเลยที่ 5 , นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล กรรมการบริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ จำเลยที่ 9 , นายประพาส ตีระสงกรานต์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ ที่ 14 และ นางบุญศรี ปิ่นขยัน กรรมการบริษัท ปาล์ม บีชฯ ที่ 17 ซึ่งศาลให้จำคุกคนละ 3 ปี

ส่วนอีก 4 คน คือ นายรอยอิศราพร ชุตาภา กรรมการบริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำเลยที่ 11 ที่ศาลตัดสินจำคุก 6 ปี  กับนายชาลี ชุตาภา กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ ที่ 13  , นายชยณัฐ โอสถานุเคราะห์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ ที่ 15 , นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย ที่ 19 ที่ศาลตัดสินจำคุกคนละ 3 ปีนั้น ตัวจำเลยไม่มาศาลก็ให้ออกหมายจับนำตัวทั้ง 4 คน มารับโทษตามคำพิพากษาฎีกาซึ่งถึงที่สุดแล้วภายในระยะเวลารับโทษที่มีอายุความ 10 ปี นับจากวันทีืออกหมายจับ (ปี พ.ศ.2571)

และอีก 2 คน คือ นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล กรรมการบริษัทสี่แสงการโยธา จำเลยที่ 7 ที่วันนี้ไม่มาศาลระบุยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล โดยขอให้ศาลเลื่อนการอ่านคำพิพากษาอีกครั้งนั้น ศาลเห็นว่าจำเลยน่าจะมาศาลได้ พฤจิการณ์เป็นลักษณะการประวิงคดี กรณีไม่มีเหตุให้เลื่อน ส่วนของ นายกว๊อกวา โอเยง  สัญชาติฮ่องกง ในฐานะผู้แทนบริษัท ปาล์ม บีชฯ จำเลยที่ 18 ได้รับหมายศาลโดยชอบแล้วไม่มา พฤติการณ์ทั้งสองเชื่อว่าจะหลบหนี จึงให้ออกหมายจับทั้งสองภายในเวลา 1 เดือนเพื่อฟังคำพิพากษาต่อไปในวันที่ 22 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

ด้าน นายณกฤช เศวตนันทน์ ทนายความของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ฝ่ายโจทก์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลมีคำพิพากษาถึงการดำเนินการกับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อไป ว่า หลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษจะต้องฟ้องร้องในทางแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายตามผลของคำพิพากษาในทางอาญาวันนี้ ซึ่งมูลค่าความเสียหายประมาณ 23,000 ล้านบาท ในส่วนคดีความที่ศาลปกครอง ปัจจุบันศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการและกรมควบคุมมลพิษที่รับผิดชอบเรื่องคดีปกครอง นำคำพิพากษาของศาลวันนี้ไปยื่นต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยชี้ขาดตามแนวทางของศาลฎีกาวันนี้ 

นายณกฤช กล่าวต่อไปว่า และในส่วนการยึดและอายัดเงินของจำเลยและคนที่ได้รับเงินไปจากการจ่ายเงินของทางราชการ ที่ในทางราชการตอนแรกตกลงว่าจะจ่าย 10,000 ล้านบาท แต่ทางราชการได้เปลี่ยนมาจ่ายในงวดแรก และได้จ่ายไป 4,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งต่อมาทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ไปอายัดเงินที่จำเลยมีการฟอกเงินที่รับไปประมาณ 500 ล้านบาท จาก 4,000 ล้านบาท ซึ่งทาง ปปง.ก็ได้ฟ้องเป็นคดีทั้งหมด 4 คดี โดยมีการฟ้องต่อศาลแพ่ง ขอให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาไปแล้ว 2 คดี และจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว 2 คดี จากนี้ไปอัยการจะได้นำคำพิพากษาของศาลฎีกานี้ไปขอให้ศาลแพ่งสืบพยานและทำคำพิพากษาต่อไป เพื่อให้เสร็จสิ้นคดีและนำเงินที่บริษัทเอกชนได้รับไปกลับมาตกเป็นของแผ่นดิน

นายณกฤช กล่าวถึงแนวทางการฟ้องนำทรัพย์กลับคืนว่า จะมีในส่วนเงิน 4,000 ล้านบาท ที่บริษัทเอกชนดังกล่าวได้รับจากรัฐงวดแรกไปแล้ว ซึ่ง ปปง.ตามมาได้แล้ว 400-500 ล้านบาท แต่ครั้งนี้เราจะฟ้องทางแพ่งอย่างเป็นทางการให้ชดใช้ค่าเสียหาย เงินที่ฝ่ายเอกชนมีอยู่จะต้องคืนทั้งหมด ถ้านำมาคืนไม่ได้และมีคำพิพากษาแล้วก็จะต้องถูกตามยึดทรัพย์ แต่เรื่องที่ควรจะพูดกันต่อก็คือเรื่องของโครงการที่จะรับกลับเงินคืนมาโดยถูกต้องนั้นทำไม่ได้แล้ว เพราะที่ผ่านมาอาจจะถือว่าไม่ได้มีการรับมอบโดยชอบ ฉะนั้นประเด็นเรื่องการสร้างโรงบำบัดน้ำเสียจะเสร็จหรือชำรุดหรือไม่ ก็จะต้องมาว่ากล่าวในเรื่องของเงินทั้งหมดที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหาย ตนถือว่าเป็นชัยชนะของประชาชนผู้เสียภาษีอากร เพราะถ้าหากรัฐจะต้องมีการชดใช้ค่าเสียหายให้กับเอกชนก็จะมาจากภาษี ซึ่งเป็นเงินจำนวนที่สูงมาก คดีนี้เป็นคดีอาญาหลักที่เรารอกันมานาน ถ้าคดีนี้มีการตัดสินเร็วกว่านี้ ความยุ่งยากก็อาจจะน้อยกว่านี้ แต่มาถึงขั้นนี้ก็ไม่เป็นไร เราก็จะแก้ไขปัญหากันไป ต่อไปก็จะอยู่ที่ศาลปกครองและศาลแพ่ง

นายณกฤช กล่าวด้วยว่า และในส่วนของ ปปง.ที่ฟ้องยึดทรัพย์ ก็จะต้องทำต่อให้เสร็จ โดยต่อไปทางกรมควบคุมมลพิษก็จะดำเนินการฟ้องแพ่งตามทุนทรัพย์ที่เสียหาย เคยคำนวณเป็นเงิน 23,000 ล้านบาท รวมถึงดอกเบี้ยและค่าเสียประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้ในโครงการ ซึ่งปกติแล้วการฟ้องคดี กรมควบคุมมลพิษซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐก็มีสิทธิที่จะขอให้อัยการเป็นผู้ฟ้องร้อง ส่วนจะฟ้องเมื่อไหร่นั้นยังไม่สามารถบอกได้ เพราะเพิ่งมีการอ่านคำพิพากษาในวันนี้ ยืนยันว่าการฟ้องค่าเสียหายในคดีนี้ยังสามารถกระทำได้ โดยที่ยังไม่หมดอายุความ เนื่องจากเป็นการฟ้องแพ่งต่อเนื่องจากคดีอาญา ส่วนที่มีการปรับบริษัทจำเลยร่วมเพียงรายละ 6,000-12,000 บาทนั้น เป็นเรตตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดฉ้อโกง แต่ทางที่เราจะทำได้ในการให้บริษัทชดใช้ด้วยการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งตามจำนวนที่เสียหายในสัญญา 23,000 ล้านบาท

“คดีนี้มีการอนุมัติงบประมาณให้กรมควบคุมมลพิษจ้างทนายเอกชนฟ้องคดีเอง จึงถือว่าประสบความสำเร็จ คดีนี้มีจำเลยถึง 19 คน มีทุนทรัพย์ความเสียหายสูงมากถึง 23,000 ล้าน มี 2 สำนวนอยู่ในคดีเดียวกัน ใช้เวลาทำคดีฟ้องตั้งแต่ปี 2547 ศาลชั้นต้นตัดสินปี 2552 ศาลอุทธรณ์ตัดสินปี 2556 ศาลฎีการับเรื่องปี 2557 และศาลฎีกาใช้เวลาพิจารณาถึง 4 ปี นับว่าเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์มากที่สุดของคดีความ มีเจ้าหน้าที่ร่วมกระทำความผิดที่โดน ป.ป.ช.ชี้มูลปี 2554 หลายสิบคน จนต่อมาศาลอาญาลงโทษจำคุก” นายณกฤช กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กฎหมายที่กำหนดความผิดฐานฉ้อโกงคือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งระวางโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คดีนี้ศาลฎีกาได้ลงโทษจำคุกจำเลยและปรับตามบทบัญญัติของกฎหมายไว้สูงสุดแล้ว