posttoday

สื่อตั้งฉายาสภา 'ถ่อย-เถื่อน-ถีบ' จตุพร-วัชระคู่กัดแห่งปี

27 ธันวาคม 2552

โพสต์ทูเดย์ - สื่อสภาฯตั้งฉายาสภาผู้แทนฯปี2552“ถ่อย-เถื่อน-ถีบ”ส่วนวุฒิสภาได้ฉายา"ตะแกรงก้นรั่ว"

โพสต์ทูเดย์ - สื่อสภาฯตั้งฉายาสภาผู้แทนฯปี2552“ถ่อย-เถื่อน-ถีบ”ส่วนวุฒิสภาได้ฉายา"ตะแกรงก้นรั่ว"

คณะสื่อมวลชนประจำรัฐสภาได้ตั้งฉายาผู้ที่ทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งสองสภาคือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิก และการทำงานของ ฝ่ายนิติบัญญัติ โดยในรอบปี 2552 ตามธรรมเนียมปฏิบัติ โดยคณะสื่อทมวลชนฯระบุว่า การตั้งฉายารัฐสภาทุกครั้งได้ใช้เหตุผล ความบริสุทธิ์ใจ โดยพยายามหลีกเลี่ยงการใช้อคติ ปราศจากการแทรกแซงจากทุกฝ่าย สำหรับฉายาที่ตั้งขึ้นได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของสื่อมวลชนประจำรัฐสภา โดยผลการพิจารณามีดังต่อไปนี้

ฉายาสภาผู้แทนราษฎร -“ถ่อย-เถื่อน-ถีบ”

ตลอดหนึ่งปี ภาพลักษณ์ของสภาผู้แทนราษฎรตกต่ำอีกครั้งเพราะเต็มไปด้วยความมแตกแยกอย่างหนักระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล จนเกือบมีการใช้ความรุนแรง ทั้งการเปิดศึกหวิดวางมวยกลางสภากันหลายครั้ง หรือมีการโต้เถียง ท้าทายการนับองค์ประชุมกันดุเดือด ด่ากันด้วยด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมและบางครั้งถึงขั้นหยาบคายหลายคู่ ซึ่งพบถี่มากขึ้นแทบทุกเดือน เช่น กรณีนายสมคิด บาลไธสง ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย ที่ยั่วฝ่ายรัฐบาลด้วยการเดินตรวจการเสียบบัตรลงคะแนนของสมาชิกรอบห้องประชุม จนเกือบวางมวยกับนายอภิชาติ สุภาแพ่ง ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ที่ปรี่จะเข้ามาชกและยกเท้าเตรียมถีบ จนต้องเข้าห้ามกันชุลมุนท่ามกลางถ้อยคำผรุสวาทของสองฝ่าย 

หรือกรณีที่เป็นข่าวครึกโครมเมื่อนายสุรเชษฐ์ ชัยโกศล ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย  กล่าวคำหยาบคายถึงขั้นชูนิ้วกลางให้นายรณฤทธิชัย คานเขต ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อแผ่นดิน ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก่อนจะท้าไปดวลกันนอกห้องประชุม

พฤติกรรมเหล่านี้ได้สร้างความเสื่อมทรามให้กับสภาผู้แทนราษฎรในยุคการเมืองต่อสู้กันรุนแรง  และดำเนินต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วถึงปัจจุบัน กรณีที่นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย สร้างวีรกรรมกระโดดถีบทำร้ายร่างกายนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ จนศาลมีคำพิพากษาเมื่อต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ให้จำคุกนายการุณ1 เดือน รอลงอาญากำหนด 2 ปี  ทั้งนี้พฤติกรรม สส.ที่ก้าวร้าวมากขึ้นนอกจากไม่เป็นแบบอย่างที่ดีของสภาผู้ทรงเกียรติแล้ว ยังมีส่วนกระตุ้นให้สังคมแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง โดยไม่ใช้หลักเหตุผล

ฉายาวุฒิสภา–“ตะแกรงก้นรั่ว”

วุฒิสภาได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสภาสูง ที่คอยตรวจสอบและกลั่นกรองการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนเข้ามาบริหารประเทศก็ตาม แต่หลังจากเกิดการสวิงสับขั้วทางการเมือง ภาพการตรวจสอบของวุฒิสภากลับไม่เข้มข้นเหมือนรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา ท่ามกลางข้อครหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาล จนทำให้สังคมผิดหวังกับบทบาทการตรวจสอบของวุฒิสภา เสมือนว่าทุกอย่างหยุดนิ่ง เสมอตัว เหมือนความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ

ขณะเดียวกันภาพของวุฒิสภากลายเป็นองค์กรที่คอยตอบแทนบุญคุณกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็น ส.ว.สรรหา หรือ ส.ว.เลือกตั้ง จนทำให้พฤติกรรมของสภาสูง ไม่แตกต่างจากสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำให้การประชุมต้องล่มซ้ำซาก เพราะเกิดความขัดแย้งระหว่าง ส.ว.สรรหา กับส.ว.เลือกตั้ง  ขณะเดียวกันยังมีการวิ่งเต้นล็อบบี้ ให้วุฒิสภาผ่านกฎหมายสำคัญของรัฐบาล ล่าสุดนายวิชาญ  ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา ได้ออกหนังสือเรื่อง “ความรับผิดชอบของสมาชิกรัฐสภาและสภาฯล่มซ้ำซาก” ระบุว่า มีการวิ่งเต้นของแกนนำกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้วุฒิผ่าน ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินโดยเร็ว จนทำให้บทบาทการตรวจสอบเหมือนกับตะแกรง ในการแยกสิ่งดีไม่ดีออกจากกัน ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงไม่ต่างจากตะแกรงก้นรั่วนั่นเอง

ฉายาประธานสภาผู้แทนราษฎร(นายชัย ชิดชอบ) – “ตลกเฒ่าร้อยเล่ห์”

ท่ามกลางสภาวะการเมืองสองขั้ว ทำให้นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องรับบทหนักในการทำหน้าที่ประธานควบคุมการประชุมสภาฯ ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง รุนแรง วุ่นวาย ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา แต่ด้วยชั้นเชิงที่คร่ำหวอดในสภามานาน  ทำให้นายชัย ใช้บทร้อยเล่ห์ทั้งการประนีประนอม ใช้ทั้งไม้แข็งและไม้นวม กระทั่งใช้ความอาวุโสความเป็น “พ่อเฒ่า” หลอกล่อสมาชิกรุ่นลูก ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาลจนหัวหมุน หลงประเด็น โดยเฉพาะการปล่อยมุขขำขันออกมากลบประเด็นจนช่วยผ่อนคลาย บรรยากาศตรึงเครียดระหว่างการประชุม และประคองไม่ให้การประชุมล่มได้หลายครั้ง การทำหน้าที่ของนายชัยด้วยชั้นเชิงที่แพรวพราวดัง “ตลกเฒ่าร้อยเล่ห์” นี่เอง จึงทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลส่วนใหญ่ต่างยอมรับกับบทบาทการทำหน้าที่ของนายชัยในการทำหน้าที่ประธานการประชุม

ฉายาประธานวุฒิสภา(นายประสพสุข บุญเดช) “ประธานหลักเลื่อน”

ด้วยต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่เดิม และส.ว.ส่วนใหญ่ให้ความไว้วางใจให้ทำหน้าที่เป็นเสาหลักของวุฒิสภา เพราะเคยเป็นถึงอดีตประธานศาลอุทธรณ์  ทุกฝ่ายจึงต่างคาดหวังว่าการทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาของนายประสพสุข บุญเดช จะสามารถเป็นเสาหลักให้กับสภาสูงได้ แต่บทบาทของประธานวุฒิสภาหลายครั้งได้สร้างความผิดหวังกับสังคม เช่น กรณีการเป็นตัวแทนของฝ่าย ส.ว.เข้าร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรี วิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน เพื่อหาทางออกปัญหาความขัดแย้งในสังคม กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อถูกทักท้วงจากสมาชิกบางส่วน ว่าไม่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของวุฒิสภา ทำให้นายประสพสุข ไม่กล้าตัดสินใจใช้อำนาจในฐานประมุขของสภาสูงในการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และบ่อยครั้งมักจะโอนเอนไปตามแรงกดดันของสังคมหรือเกมการเมือง ทำให้เกิดภาวะเลื่อนลอย เปรียบเหมือนหลักยึดที่เลื่อนไป-มาตามแรงกดดัน จนขาดภาวะผู้นำของสภาสูง ขณะเดียวกันท่ามกลางประเทศประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ ประธานวุฒิสภา กลับพาสมาชิกไปดูงานต่างประเทศ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม แทนที่จะทำเป็นตัวอย่าง กลับทำเสียเอง

ดาวเด่น “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย” 

บทบาทที่ผ่านมาของนพ.ชลน่าน ต่อการทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาฯถือว่ามีความโดดเด่น โดยเฉพาะการอภิปรายในสภาฯที่ใช้ข้อบังคับการประชุมสภาฯมาเป็นเครื่องมือในการแสดงความคิดเห็นเป็นหลัก ไม่มุ่งเน้นอภิปรายรัฐบาลด้วยการใช้วาทศิลป์เป็นสำคัญ ทำให้การประชุมไม่สามารถดำเนินการไปได้ ขณะเดียวกันแม้ว่าจะมีบางประเด็นที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล อย่างเช่นการอภิปรายเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ซึ่งนพ.ชลน่านก็สามารถยกข้อเท็จจริงและประเด็นทางกฎหมายมาหักล้างได้ในหลายประเด็น โดยเฉพาะการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณที่ผ่านมา

ดาวดับ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย”

เคยมีวลีที่รู้กันอยู่ในวงการเมืองว่า ถ้าไปทะเลเจอฉลาม แต่มาสภาฯเจอเฉลิม ที่ผ่านมาร.ต.อ.เฉลิม เป็นบุคคลที่หากใครเป็นรัฐบาลแล้วร.ต.อ.เฉลิมเป็นฝ่ายค้านจะมีการทำหน้าที่ทั้งในสภาฯและนอกสภาฯในการตรวจสอบการทำงานในสภาฯอย่างเข้มข้น ด้วยข้อมูลที่สร้างความสั่นสะเทือนให้คนที่เป็นรัฐบาลได้พอสมควร แต่ปรากฏว่าร.ต.อ.เฉลิมในวันนี้กลายเป็นดาวอับแสง ด้วยบทบาทการทำหน้าที่ของตนเองที่แทบจะหาสาระหลักไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายหรือการยื่นกระทู้ถามในสภาฯ กับไม่ได้แสดงความเป็นขุนศึกของฝ่ายค้านได้อย่างที่สมศักดิ์ศรี มีแต่วาทะที่เชือดเฉือนกระแนะกระแหนไปยังฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะพุ่งเป้าไปที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไม่ได้มุ่งไปที่เนื้อหาสาระของการอภิปรายที่เคยทำได้อย่างโดดเด่นเหมือนที่ผ่านมา 

เหตุการณ์เด่นแห่งปี  “การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อหาทางออกกรณีวิกฤตการเมือง”

เหตุการณ์แห่งปีต้องยกให้กับการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อวันที่ 22-23 เม.ย.2552เพื่อพิจารณาญัตติด่วนที่รัฐบาลขอคำเสนอแนะจากสมาชิกรัฐสภาเพื่อหาทางออกในการแก้ไขวิกฤตการทางการเมืองหลังเกิดเหตุการณ์ “สงกรานต์จลาจล” หลายฝ่ายคาดหวังว่า การประชุมรัฐสภานัดนี้ จะช่วยให้ความตรึงเครียดทางการเมืองลดอุณหภูมิลง  แต่ปรากฎว่า เวทีรัฐสภากลับไม่เป็นที่พึ่งหวังในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพราะไม่ได้เป็นการประชุมอย่างสร้างสรรค์ หลายประเด็นที่หยิบมาพูด และมีการถ่ายทอดสดด้วยนั้นถูกมองว่าเป็นการบิดเบือนข้อมูลและปลุกระดมซ้ำ ทั้งกรณีรถแก๊ส ,  การป่วนเมืองที่มาจากกลุ่มที่มีความขัดแย้งกันอยู่ เนื้อหาการอภิปรายมุ่งเอาชนคะคานกันด้วยคำพูด กล่าวหากันโดยไม่มีหลักฐานข้อพิสูจน์ ทำให้เกิดการประท้วงวุ่นวาย เพิ่มอุณหภูมิความขัดแย้งในสังคมมากขึ้นไปอีก  และแม้ผลสรุปของการประชุมรัฐสภาจะมีการตั้งคณะกรรมการสองชุด คือ   คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์การชุมนุม แต่จนถึงวันนี้ก็ไม่มีผลความคืบหน้าในการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา ขณะที่ความรุนแรงทางสังคมยังคงอยู่

วาทะแห่งปี “พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ทำในสิ่งที่กฎหมายห้าม”    

วาทะดังกล่าวส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้หยิบมาพูดหลายครั้งเพื่อยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้กระทำทุจริตหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุกพ.ต.ท.ทักษิณ 2 ปีในคดีทุจริตที่ดินรัชดา  ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้หยิบวาทะนี้มาพูดในสภา ระหว่างตั้งกระทู้สดถามนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ต.ค. เรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนโดยระบุว่า “ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เคยทำทุจริต ที่ถูกศาลตัดสินเป็นเรื่องทำสิ่งที่กฎหมายห้าม แต่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย "   พร้อมทั้งท้าทายว่า หากเป็นเรื่องทุจริตจริงจะเอาปริญญาเอกนิติศาสตร์ไปคืนมหาวิทยาลัยรามคำแหง   ซึ่ง วาทะดังกล่าวเป็นการสะท้อนให้เห็นเด่นชัดว่า เป็นการเลี่ยงบาลี บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้ประชาชนเกิดความสับสนในคำพิพากษาศาลฎีกา และเป็นการสะท้อนจุดยืนและบรรทัดฐานทางการเมือง ของ ร.ต.อ.เฉลิม ที่ไม่สมกับอวดอ้างสรรพคุณตัวเองว่า จบด๊อกเตอร์ด้านกฎหมาย

คู่กัดแห่งปี “นายจตุพร พรหมพันธุ์ -นายวัชระ เพชรทอง”

นักการเมืองคู่นี้เป็นศิษย์ร่วมสถาบันเดียวกัน แต่เมื่อมาอยู่ต่างพรรคต่างขั้ว ทำให้วิถีทางการต่อสู้ทางการเมืองต้องเข้าห้ำหั่นกัน ด้วยความที่รู้ไส้รู้พุงกันตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาทำให้นายจตุพร  พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ มักมีประเด็นวิวาทะกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมันมาโดยตลอด บางจังหวะเลยเถิดไปถึงการพาดพิงบุพการี ทำให้อุณหภูมิในสภาเดือดดาลอยู่หลายครั้ง จนบางครั้งหวุดหวิดที่จะวางมวยกันในสภาฯ นอกจากนั้นไม่พอ นายจตุพรและนายวัชระยังออกมาท้าทายกันที่ห้องแถลงข่าวรัฐสภาเป็นประจำ  จึงทำให้ศึกสายเลือดระหว่าง ส.ส.หนุ่มคู่นี้จึงถูกยกให้เป็นคู่กัดแห่งปี

คนดีศรีสภาฯ “นายเจริญ คันธวงศ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์”

ปัญหาการทำงานของสภาฯในรอบปีที่ผ่านมาเรื่องที่ใหญ่ที่สุดคือ สภาล่มบ่อยครั้ง 11 เดือน 11 ครั้ง เพราะส.ส.ไม่รู้จักรับผิดชอบต่อหน้าที่ไม่เข้าประชุมสภาฯทำให้งานสภาฯเดินหน้าไปไม่ได้ แต่นายเจริญ ซึ่งมีอาการป่วยเป็นโรคมะเร็งที่ขั้วตับ กลับเข้าประชุมสภาและร่วมลงมติผ่านกฎหมาย  88 ครั้งจากการประชุมสภา การลงมติ 100 ครั้ง และในช่วงก่อนปิดสมัยการประชุม ที่เกิดเหตุการณ์สภาล่มติดกันซ้ำซาก นายเจริญยังได้เข้าร่วมประชุมด้วยทั้งที่พึ่งเข้ารับการผ่าตัดโรคมะเร็งก่อนหน้านี้  1 วัน จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นคนดีศรีสภา เพื่อเป็นตัวอย่างของคนที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างสมศักดิ์ศรี

ฉายาผู้นำฝ่ายค้าน -ไม่มีการตั้งฉายา

หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ จับมือพรรคต่างๆ พลิกขั้วมาจัดตั้งรัฐบาลได้โดยสภาผู้แทนราษฎรมีมติด้วยเสียงข้างมากให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อ 15 ธ.ค. 2551 ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน อย่างไรก็ดี การที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งจัดตั้งหลังจากคดียุบพรรคพลังประชาชน ไม่ตั้งหัวหน้าพรรคจากบุคคลที่เป็นส.ส.อยู่ในสภา ทำให้ไม่สามารถแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 110 บัญญัติว่า ผู้นำฝ่ายค้านคือ ส.ส.ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่ส.ส.สังกัดของพรรคตนมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองที่ส.ส.ในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรในขณะแต่งตั้ง เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

กรณีดังกล่าว สื่อมวลชนประจำรัฐสภา จึงมีมติเอกฉันท์ งดการตั้งฉายาผู้นำฝ่ายค้าน ในฉายารัฐสภาประจำปี 52