posttoday

มีชัยชี้ "ไพรมารีโหวต" ควรมีไว้

26 มิถุนายน 2561

"มีชัย" ชี้ ไพรมารีโหวตควรมีไว้ ระบุรัฐธรรมนูญแก้ได้ แต่ต้องฟังเสียงคนค้านแก้รัฐธรรมนูญด้วย มิเช่นนั้นจะเป็นเผด็จการเสียเอง

"มีชัย" ชี้ ไพรมารีโหวตควรมีไว้ ระบุรัฐธรรมนูญแก้ได้ แต่ต้องฟังเสียงคนค้านแก้รัฐธรรมนูญด้วย มิเช่นนั้นจะเป็นเผด็จการเสียเอง

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า การทำไพรมารีโหวต กรธ.ไม่ได้ร่างเอาไว้ เพราะเห็นว่ากลไกที่มีในรัฐธรรมนูญก็ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมอยู่แล้ว แต่พอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ให้มีไพรมารีก็ต้องเดินตาม หากเกิดติดขัดก็ต้องแก้หรือทบทวน เพื่อพยายามทำให้ประชาชนในฐานะสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าดูตามบทเฉพาะกาลของกฎหมายพรรคการเมืองที่มีคำสั่งคสช.แก้ไข จะพบว่าได้ผ่อนลงมาเยอะแล้ว จากให้ทำทุกเขตก็ให้ทำรายจังหวัด

"ต้องพูดกันให้ชัดว่าปัญหาจริงๆแล้วคืออะไร ซึ่งหากจะแก้ก็ต้องดูความเหมาะสม จะใช้วิธีและเวลาแก้กันอย่างไร การใช้มาตรา44 ก็จะพยายามใช้เท่าที่จำเป็น การปฏิรูปการเมืองต้องเริ่มจากภายในพรรค ทำให้เป็นของประชาชนจริงๆไม่มีใครครอบงำ ส่วนข้อเสนอจากฝ่ายการเมืองก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป หากจะให้ยกเลิกเลยก็น่าเสียดายโอกาส และข้อเสนอสุดท้ายที่ให้ทำไพรมารีระดับภาคแทนนั้น คิดว่าเหมือนนำคนกลุ่มเดียวมาทำไพรมารี ซึ่งจะเป็นการไม่ได้บอกอะไร เพราะมี 4-5 ภาค แต่จะต้องครอบคุลมถึง 76 จังหวัด ดังนั้น ต้องกลับมาพิจารณาว่าข้อเสนอใดจะดีที่สุดสำหรับประชาชน "นายมีชัยกล่าว

เมื่อถามถึง จุดยืนพรรคการเมืองหลายพรรคที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ผ่านกระบวนการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง นายมีชัย กล่าวว่า ทำได้ ถ้าอยู่ในกรอบที่กำหนด เช่น ห้ามเปลี่ยนแปลงการปกครอง การแก้ไขก็จะต้องมีกรอบ ไม่ใช่เอากระดาษเปล่ามาวาง ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่างตอนกรธ.ร่างก็มีกรอบ ซึ่งในส่วนของการแก้ไข ที่ให้ใช้เสียงสว.1ใน3 และเสียงส.ส.ฝ่ายค้านด้วยนั้น ก็เป็นไปตามหลักที่จะต้องใช้ 2 สภาในการแก้ไข ไม่ใช่ใช้แต่เสียงข้างมากอย่างเดียว

"การจะแก้ไขก็เพราะมองแต่จุดที่ไม่ชอบ ทั้งที่มันมีจุดชอบอยู่ แล้วแต่ละคนต่างก็ชอบและไม่ชอบต่างกันไป ถ้าเอาแต่ใจตนเองก็เป็นเผด็จการ ที่ขนาดเผด็จการจริงๆยังไม่กล้าทำ จะเอาตามใจตนเองหรือพวกตนกลุ่มเดียวไม่ได้ จะแก้ไขก็ต้องบอกก่อนจะแก้อย่างไร คนอีก 66 ล้านคนจะได้รู้ด้วย ทำได้แต่ต้องบอกให้รู้ด้วยจะทำอย่างไร ส่วนคนที่ชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขาก็มีสิทธิที่จะปกป้องและคัดค้านได้ เพราะเขาไม่รู้ว่าจะแก้ไขไปสู่อะไร"ประธานกรธ.กล่าว