posttoday

ประธานกสม.กางข้อกม.ชี้ศาลรธน.ต้องรับคำร้องเซ็ตซีโร่องค์กร

22 มิถุนายน 2561

ประธานกสม.เปิดข้อกฎหมายชี้ศาลรน.ต้องรับคำร้อง"เซ็ตซีโร่กสม."ไว้พิจารณาเพราะเป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง

ประธานกสม.เปิดข้อกฎหมายชี้ศาลรน.ต้องรับคำร้อง"เซ็ตซีโร่กสม."ไว้พิจารณาเพราะเป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2561 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้สัมภาษณ์ว่า ภายหลังจากผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติไม่ส่งคำร้องของ กสม. 3 คน ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งต่อมา กสม. 3 คน ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 48 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง เพื่อให้วินิจฉัยกรณีการเซ็ตซีโร่ กสม. ทั้งคณะตาม พรป.กสม. ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญปี 2560

นายวัส กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาวินิจฉัยว่าจะรับคำร้องของพวกตนหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 และ พรป.ศาลรัฐธรรมนูญปี 2561 บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ 2 กรณี คือ 1.ยื่นขอให้วินิจฉัยว่าการกระทำขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 7 (11) ประกอบมาตรา 46 ของ พรป.ศาลรัฐธรรมนูญ และ 2. ยื่นขอให้วินิจฉัยว่าการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพเป็นผลจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 48 ของ พรป.ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้งสองมาตรา มีเงื่อนไขสำคัญว่าบุคคลนั้นต้องไปร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน

“กรณีตามมาตรา 48 เป็นเรื่องคดีอื่นที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 7 (13) ของ พรป.ศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดีทั้งกรณีตามมาตรา 46 และมาตรา 48 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจไม่รับคำร้องไว้พิจารณาได้ด้วยเหตุผล 2 ข้อเท่านั้น คือ 1. คำร้องไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย หรือ 2. เป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา 47 ซึ่งมีข้อห้ามที่จะรับไว้พิจารณาอยู่ 6 กรณี เช่น เป็นการกระทำของรัฐบาล เป็นต้น ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับคำร้องที่บุคคลผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ และการละเมิดนั้น เป็นผลจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงน่าจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและ พรป.ศาลรัฐธรรมนูญ” ประธาน กสม. ระบุ