posttoday

ป.ป.ช.ชี้ขาดหลักฐานใหม่ ยันไม่รื้อคดีสลายนปช.

22 มิถุนายน 2561

ป.ป.ช.ไม่ทบทวนมติอภิสิทธิ์สลายนปช.ไม่ผิด ชี้ ขาดหลักฐานใหม่ที่เป็นสาระสำคัญ ย้ำ นปช.ชุมนุมขัดรธน.ตั้งแต่ต้น

ป.ป.ช.ไม่ทบทวนมติอภิสิทธิ์สลายนปช.ไม่ผิด ชี้ ขาดหลักฐานใหม่ที่เป็นสาระสำคัญ ย้ำ นปช.ชุมนุมขัดรธน.ตั้งแต่ต้น

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.มีมติไม่นำกรณีที่ป.ป.ช.เคยมติว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก ไม่มีพฤติการณ์ว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากการสั่งการในเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช. เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ถึง 19 พ.ค. 2553มาพิจารณาใหม่ ตามที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ และนายวรัญชัย โชคชนะ มีหนังสือร้องขอ

นายวรวิทย์ กล่าวว่า ป.ป.ช.เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่าการสั่งใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธปืนติดตัว เข้าขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำสั่งของศาลว่าเป็นช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จึงมีเหตุจำเป็นที่ ศอฉ. ต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืน เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยมีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำอาวุธติดตัว หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้เพื่อระงับยับยั้งได้ไปตามสถานการณ์ หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ อันเป็นไปตามหลักสากล

ส่วนประเด็นการไม่ยกเลิกการปฏิบัติในทันทีเมื่อรับทราบการเสียชีวิตของประชาชน ป.ป.ช.เห็นว่าป.ป.ช.เคยพิจารณาและวินิจฉัยไว้แล้วว่าภายหลังจากเกิดเหตุการณ์การขอคืนพื้นที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553   จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บแล้ว ศอฉ. ได้ทบทวนปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยไม่ใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าผลักดันผู้ชุมนุมอีกต่อไป แต่ใช้มาตรการตั้งด่านตรวจ หรือจุดสกัดปิดล้อมวงนอกไว้โดยรอบ เพื่อให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมไปเองและในวันที่ 14 และ 19 พ.ค.2553 ปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม่มีการใช้กำลังทหารเข้าผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุม เหมือนการปฏิบัติการในวันที่ 10 เม.ย. 2553 แต่เป็นการตั้งด่านอยู่กับที่ทุกแห่ง

นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่ระบุว่า กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่รอบคอบ ไม่ถูกต้อง ไม่น่าเชื่อถือและ 2 มาตรฐาน เมื่อเทียบกับกรณีของการสลายการชุมนุมวันที่ 7 ต.ค.2551 ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่ม นปช. มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ เหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ปรากฏแนวทางการปฏิบัติที่เป็นไปตามขั้นตอนและหลักการสากล มีการใช้แก๊สน้ำตาชนิดยิงและขว้างเพื่อผลักดันประชาชนกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ปิดทางเข้ารัฐสภา 3 ครั้ง ส่วนเหตุการณ์สลายการชุมนุมของ นปช. นายอภิสิทธิ์ฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรี กับพวก ได้มีการสั่งการโดยมีแนวทางการปฏิบัติ และเน้นย้ำการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทุกระดับตามขั้นตอน กฎและหลักการสากลในการสลายการชุมนุม

ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ มีความแตกต่างกัน คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงพิจารณาวินิจฉัยคดีไปตามข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันดังกล่าว   แม้ต่อมาอัยการสูงสุดจะไม่รับดำเนินคดี และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะพิพากษายกฟ้องนายสมชายฯ กับพวก ก็เป็นเรื่องการใช้ดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของแต่ละองค์กรซึ่งสามารถแตกต่างกันได้ตามหลักของการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ

เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติไม่ยกสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ กับพวก ขึ้นพิจารณาใหม่ เหตุไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญแก่การไต่สวน จึงต้องห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยกขึ้นพิจารณาใหม่ ตามมาตรา 44แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ หากปรากฏพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญที่จะทำให้ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจหยิบยกสำนวนการไต่สวนดังกล่าว ขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทุกเมื่อภายในอายุความ