posttoday

"บั่นทอนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย" สรุปคำพิพากษาจำคุก "ปึ้ง" ออกพาสปอร์ตให้แม้ว

19 มิถุนายน 2561

ศาลชี้ "สุรพงษ์" ตระเตรียม-สั่งการให้ออกพาสปอร์ตให้ "ทักษิณ" เพื่อให้หนีคดีไปต่างประเทศได้สะดวก เป็นการบั่นทอนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย

ศาลชี้ "สุรพงษ์" ตระเตรียม-สั่งการให้ออกพาสปอร์ตให้ "ทักษิณ" เพื่อให้หนีคดีไปต่างประเทศได้สะดวก เป็นการบั่นทอนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. เวลา 11.55 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.51/2560 ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล จำเลย เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเจ้าพนักงานตามกฎหมาย โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตในการสั่งการเกี่ยวกับการขอออกหนังสือเดินทางประเภทบุคคลทั่วไปของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้อำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่า จำเลยตระเตรียมการเพื่อออกหนังสือเดินทางประเภทบุคคลทั่วไปให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ตั้งแต่ชั้นรับคำร้องขอ พิจารณาเสนอความเห็นและ สั่งการเพื่อปลดรายชื่อออกจากบัญชีรายชื่อบุคคลที่ต้องตรวจสอบก่อนออกหนังสือเดินทางและปลดล็อกในระบบคอมพิวเตอร์โดยปกปิดซ่อนเร้นเรื่อยมา

อันเป็นการฝ่าฝืนต่อแนวทางปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 ข้อ21 โดยจำเลยอ้างนโยบายของรัฐบาลที่ไม่มีอยู่จริงและไม่ปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีได้เข้ามารู้เห็นเกี่ยวข้องส่งผลโดยตรงให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือเดินทางประเภทบุคคลทั่วไปแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ

เท่ากับว่าจำเลยในฐานะรัฐมนตรีกระทำการสนับสนุนชวยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและหลบหนีหมายจับในคดีข้อหาความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศสามารถเดินทางในต่างปะเทศได้โดยสะดวก อยู่ในต่างประเทศโดยไม่ผิดกฎหมาย และรัฐบาลไทยไม่อาจขอให้รัฐบาลประเทศนั้นขับออกจากประเทศหรือส่งผู้ร้ายข้ามแดน อันเนื่องจากเหตุที่ไม่มีหนังสือเดินทางได้ ส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมและคำพิพากษาของศาลยุติธรรมไทยอ่อนแอและไม่มีสภาพบังคับตามลำดับ

นอกจากนี้ยังส่อให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพของแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของไทยในสายตาประชาคมโลก ซึ่งกระทบกระเทือนต่อชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศ เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ อันเป็นการกระทำโดยมิชอบและโดยทุจริต

พิพากษาโดยองค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 (เดิม) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปรายปรามการทุจริต ฑ.ศ.2542 มาตรา 123/1 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา90 จำคุก 2 ปี

พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า การกระทำผิดของจำเลยมีเจตนาช่วยเหลือผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลซึ่งหลบหนีให้สามารถเดินทางในต่างประเทศได้สะดวกและเป็นผลบั่นทอนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย จึงไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ