posttoday

"พิชัย” ชี้พม่าคืนเงินกู้สมัยทักษิณแล้ว เชื่อคนรื้อฟื้นหวังดิสเครดิต

04 มิถุนายน 2561

"พิชัย” ชี้ พม่าคืนเงินกู้เอ็กซิมแบงค์สมัยทักษิณแล้ว ไม่มีความเสียหาย เช่นเดียวกับ คดีทีพีไอ เชื่อคนรื้อฟื้นหวังดิสเครดิตช่วงเลือกตั้ง

"พิชัย” ชี้ พม่าคืนเงินกู้เอ็กซิมแบงค์สมัยทักษิณแล้ว ไม่มีความเสียหาย เช่นเดียวกับ คดีทีพีไอ เชื่อคนรื้อฟื้นหวังดิสเครดิตช่วงเลือกตั้ง

นายพิชัย นริทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน กล่าวว่า ตามที่ นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการธนาคารเอ็กซิมแบงค์ได้แจ้งว่า ประเทศเมียนมาได้คืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยของเงินกู้ 4,000 ล้านบาทที่ยืมสมัยรัฐบาลทักษิณคืนเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ปี 2559 แสดงว่าไม่มีความเสียหายใดๆเกิดขึ้น อีกทั้งเอ็กซิมแบงค์ยังบอกด้วยว่า เงินกู้ดังกล่าว เอ็กซิมไม่ได้สั่งซื้อสินค้าของเอกชนเจ้าใด ทางเมียนมา เลือกเอง และ จากข้อมูลที่ได้รับทราบว่าในขณะนั้นพม่าสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทชินแซท เป็นจำนวนเงินประมาณ 100 กว่าล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก แค่ 2-3% ของเงินกู้เท่านั้น และเป็นความต้องการของพม่าเองที่จะซื้อสินค้าและบริการเฉพาะทาง

ดังนั้น หากความเสียหายไม่มี และพม่าต้องการซื้อเอง การดำเนินคดีกับอดีตนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล

ทั้งนี้ แนวทางที่ประเทศไทยต้องการเป็นประเทศศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ การต้องเล่นบทประเทศพี่ใหญ่ในภูมิภาค โดยให้ประเทศเพื่อนบ้านกู้เงินเพื่อนำไปพัฒนาประเทศเป็นเรื่องจำเป็นและสมควรทำ เพราะเมื่อประเทศเพื่อนบ้านเจริญและพัฒนาขึ้นก็จะค้าขายกับประเทศไทยมากขึ้น สินค้าไทยก็จะสามารถขายไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้มากขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และตลอดเวลาที่ผ่านมานี้ การค้าชายแดนของไทยก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการค้าขายกับประเทศในกลุ่มอาเซียนก็มีจำนวนและสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เองก็ได้ปล่อยกู้รัฐบาลพม่าเป็นเงิน 4,500 ล้านบาทเช่นกันแถมยังไม่คิดดอกเบี้ยด้วย ถ้าชี้ว่าการปล่อยกู้ประเทศเพื่อนบ้านแล้วผู้นำผิด ทั้งที่ไม่เกิดความเสียหาย ผู้นำปัจจุบันที่ปล่อยกู้ประเทศเพื่อนบ้านเช่นกันจะต้องผิดด้วยหรือไม่

คดีเอ็กซิมแบงค์นี้ไม่ต่างอะไรกับคดีทีพีไอ ที่รัฐบาลในขณะนั้นมีหน้าที่ต้องแก้ไขหนี้จำนวนมโหฬารของประเทศที่ผ่านภาวะล้มละลายมา โดยให้กระทรวงการคลังเข้าจัดการหนี้เสียก้อนใหญ่ที่สุดในประเทศในขณะนั้น และให้ บมจ. ปตท. เข้าซื้อและดำเนินกิจการจนประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูทำให้ บมจ. ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจได้ประโยชน์และรัฐได้ประโยชน์ ปัจจุบันสร้างกำไรให้อย่างมากกับ บมจ. ปตท. และรัฐ แต่ผู้นำประเทศที่ตัดสินใจแก้ไขปัญหาของประเทศในขณะนั้นกลับถูกดำเนินคดี ทั้งที่ไม่มีความเสียหาย ตรงกันข้ามกับ คดี ปรส ที่เอาทรัพย์สินจำนวนมากไปขายถูกๆให้กับต่างประเทศเพื่อขายเอากำไรและนำกลับประเทศไปโดยไม่ต้องเสียภาษี แต่กลับไม่ถูกดำเนินคดี ความยุติธรรมในประเทศจะถูกต้องหรือไม่

อีกทั้งคดีทีพีไอนี้อัยการยังเห็นต่างจาก ปปช. ในการฟ้องคดีนี้ ดังนั้นการที่ประเทศไม่เสียหายแต่ได้ประโยชน์ แต่ผู้นำถูกดำเนินคดี จะทำให้มาตรฐานหลักปฏิบัติการของผู้นำในอนาคตมีปัญหาได้ และจะถูกมองได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง ตนไม่ได้ต้องการแก้ตัวให้ผู้นำในอดีต แต่อยากเห็นบรรทัดฐานที่ชัดเจนสำหรับอนาคต ผู้นำจะได้กล้าติดสินใจทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ของประเทศโดยไม่ต้องกังวล

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งสองเรื่องนี้เกิดมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว แต่พึ่งจะมารื้อฟื้นคดีในช่วงนี้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในต้นปีหน้า อดไม่ได้ที่จะต้องคิดว่าเป็นความต้องการที่จะดีสเครดิตอดีต นายกฯ ทักษิณเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของ พรรคเพื่อไทยที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาลปัจจุบันใช่หรือไม่ นโยบายสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านและช่วยกันพัฒนาเพื่อประโยชน์ร่วมกัน จะเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย ห่วงแต่ว่าหากเป็นเหมือนในปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านอาจจะพัฒนาแซงไทยไปหมดก่อน