posttoday

เลือกตัง'62!เกิดแน่ เว้นแต่มีรัฐประหาร

02 มิถุนายน 2561

สมชัย ศรีสุทธิยากร วิเคราะห์ โอกาสเลือกตั้งตามโรดแมป มีเพียง 30% จาก 6 ปัจจัยสำคัญ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้กระบวนการทุกอย่างเตรียมเดินหน้าตามโรดแมปที่รัฐบาล ประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งภายในปีหน้า

ทว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา วิเคราะห์ถึงโอกาสเลือกตั้งตามโรดแมป มีเพียง 30% จาก 6 ปัจจัยสำคัญให้เรื่องนี้ถูกเลื่อนออกไป

สมชัย โพสต์ข้อความไว้ว่า หากพิจารณาถึงขั้นตอนต่างๆ ที่ต่อเนื่องจากนี้ไปจะมีขั้นตอนดังนี้

1.ศาลรัฐธรรมนูญส่งคำวินิจฉัยเป็นลายลักษณ์อักษรกลับถึงประธาน สนช.

2.ประธาน สนช. ส่งเรื่องถึงนายกรัฐมนตรี

3.นายกรัฐมนตรีนำร่าง พ.ร.ป. ทั้งสองฉบับขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธย

4.สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

5.การชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ป.สส. 90 วัน ตามที่เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป.สส.

6.การกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 150 วันนับแต่ พ.ร.ป.สส.มีผลการบังคับใช้

ประมาณการเวลาในขั้น 1-3 คือ 15-30 วัน ไม่สามารถทำได้เร็วกว่านี้เนื่องจากมีขั้นตอนทางธุรการที่ต้องใช้เวลา
    
ประมาณการเวลา ในขั้น 4 คือ 30-90 วัน ไม่สามารถก้าวล่วงได้ เนื่องจากเป็นพระราชอำนาจ

ประมาณการเวลา ในขั้นที่ 5 คือ 90 วัน เนื่องจากเป็นข้อกำหนดที่ต้องทำตามกฎหมาย

ประมาณการเวลาในขั้นที่ 6 คือ 90-150 วัน โดย กกต.สามารถกำหนดวันเลือกตั้งให้เร็วขึ้นได้ แต่ต้องเร่งรัดการดำเนินงานในขั้นตอนของ กกต.ในเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง และกำหนดระยะเวลาการหาเสียงที่น้อยลง ในขณะเดียวกันพรรคการเมืองต้องเร่งรัดตนเองในเรื่องการทำไพรมารีโหวตเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้สมัคร

กรณีที่หนึ่ง เวลาน้อยที่สุดที่เป็นไปได้ คือ 15+30+90+90 วัน เท่ากับ 7 เดือนครึ่งนับแต่ต้นเดือน มิ.ย. 2561 การเลือกตั้งจะมีได้ประมาณกลางเดือน ก.พ. 2562

กรณีที่สอง หากขั้นตอน 1-3 ใช้เวลา 30 วัน เวลาที่ใช้คือ 30+30+90+90 วัน เท่ากับ 8 เดือน การเลือกตั้งจะมีขึ้นปลายเดือน ก.พ. 2562

กรณีที่สาม หากขั้นตอนที่ 4 ใช้เวลา 60 วัน เวลาที่ใช้คือ 30+60+90+90 วัน เท่ากับ 9 เดือน การเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือน มี.ค. 2562

กรณีที่สี่ หากขั้นตอนที่ 4 ใช้เวลา 90 วัน เวลาที่ใช้คือ 30+90+90+90 วัน เท่ากับ 10 เดือน การเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือน เม.ย. 2562

กรณีที่ห้า หากขั้นตอนที่ 6 กกต.ใช้เวลา 120 วัน วันเวลาที่ใช้คือ 30+90+90+120 วัน เท่ากับ 11 เดือน การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค. 2562

กรณีที่หก หากขั้นตอนที่ 6 กกต.ใช้เวลาเต็มที่ 150 วัน วันเวลาที่ใช้ คือ 30+90+90+150 วัน เท่ากับ 360 วัน หรือเดือน มิ.ย. 2562

หากใช้วิธีการคิดทางคณิตศาสตร์แบบหยาบๆ กรณีที่จะเกิดการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. 2562 จะมีเพียงแค่ 2 ทางเลือกใน 6 ทางเลือกที่เป็นไปได้ โอกาสความน่าจะเป็นจึงมีประมาณ 1 ใน 3 หรือประมาณร้อยละ 30 ส่วนที่จะเกิดขึ้นจริงในวันใดเป็นเรื่องที่ทุกฝ่าย (ยกเว้นขั้นตอนในพระราชอำนาจที่มิอาจเร่งรัด) ต้องจริงใจในการเดินหน้าประเทศสู่การเลือกตั้ง โดยหวังว่าคงไม่มีเรื่องการใช้อภินิหารทาง กฎหมายใดๆ มายื้อการเลือกตั้งออกไปอีก

อย่างไรก็ดี สดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. รับผิดชอบงานด้านกิจการพรรคการเมือง แสดงทัศนะต่อประเด็นนี้ ว่าคงไม่มีอะไรต้องมาขัดขวางการเลือกตั้งอีก เพราะในเมื่อกฎหมายลูกซึ่งเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งออกมาหมดแล้ว ก็จะต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งคือ 180 วัน บวกกับ 90 วัน หรือ 2 เดือน คงจะต้องมีการเลือกตั้งแน่นอนภายในปีหน้า

"กรณีที่สมชัยออกมาให้ความเห็นนั้น ส่วนตัวดูแล้วไม่มีปัจจัยอะไร นอกจากจะมีการปฏิวัติรัฐประหาร คือ ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ทิ้ง แต่ถ้าปัจจัยเรื่องนี้มันไม่มี ดังนั้นก็เป็นไปตามโรดแมป โดยไม่เกินกลางปีหน้า คงจัดให้มีการเลือกตั้งแน่

"ซึ่งดูแล้วตามที่อาจารย์สมชัยว่า ท่านก็เก่งในเรื่องที่ปัจจัยต่างๆ ของท่าน แต่ถ้าพูดไปแล้วเหมือนกับทำให้เกิดความไม่มั่นคงของรัฐบาลเกิดขึ้น ถ้าเราพูดดักหน้าดักหลังเสียก่อน แทนที่เหตุการณ์ของประเทศจะดีขึ้นกลับไม่ดี และในฐานะประชาชนคนหนึ่งก็อยากจะเห็น ทุกอย่างเป็นไปตามครรลองที่เขาได้วางไว้ "

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวคิดว่าถ้ามีการตรวจสอบโดยศาลรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้วทั้งสองฉบับ และตอนนี้ออกมาครบหมดแล้ว เหลือเพียงรอลงพระปรมาภิไธยเท่านั้น ก็คิดว่าทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป ดังนั้นที่จะไปคิดนั่นคิดนี่ให้เกิดปัญหาขึ้นมามันก็ไม่ได้ดีกับประเทศ และคิดว่าคงไม่มีใครอยากทำให้เกิดความ ไม่สงบขึ้นมา มีกลุ่มเรียกว่าคนอยากเลือกตั้ง ประชุม หรือก่อม็อบก็ไม่มีผลดีอะไร
 
สำหรับปัจจัยแทรกซ้อนให้การเลือกตั้งต้องทอดเวลาเลือกตั้งออกไปอีกนั้น ซึ่งในกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 53/2560 ในมาตรา 140 และมาตรา 141 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติที่บีบให้พรรคการเมืองจะต้องจัดการเกี่ยวกับสมาชิกพรรค

"เรื่องนี้ไม่น่าทำให้การเลือกตั้งยืดเยื้อออกไปและพ้นระยะเวลาไปแล้วด้วย ถึงศาลรัฐธรรมนูญว่ามันมีการแก้ไข โดยใช้คำสั่งที่ 53/2560 ทำให้พรรคการเมืองต้องเร่งรีบกับสมาชิกพรรคเขา ก็เป็นเรื่องภายในของพรรคการเมือง ไม่ได้กระทบกระเทือนอะไรเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้ต้องเลื่อนเวลาออกไปอีก"

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคใหญ่สามารถตั้งรับได้เรียบร้อยคงไม่มีปัญหาเรื่องไพรมารีโหวต ซึ่งต้องมีการคัดเลือกคนที่จะสมัครรับเลือกตั้ง เพราะทุกอย่างเชื่อว่าสมาชิกพรรคได้รายงานตัว ซึ่งเป็นสมาชิกเก่า ส่วนการมีสมาชิกเพิ่มขึ้นใหม่ ก็คงได้จำนวนตรงตามพรรคการเมืองพร้อมทำไพรมารีโหวต

"ปัญหาต่างๆ น่าจะไม่มีประเด็นอะไรทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนระยะเวลาออกไปเป็นปี 2563 หรือปี 2564 ก็คิดว่ารัฐบาลเองคงไม่อยากเสียสัตย์ คำพูดในการที่จะเลื่อนไปอีก

เขาใช้คำสั่งที่ทำให้พรรคการเมืองอาจต้องเร่งรีบในการหาสมาชิกพรรค การจดจัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องภายในของกลุ่มพรรคการเมืองเท่านั้น ไม่ได้กระทบประชาชนส่วนใหญ่ และคิดว่าไม่มีปัจจัยอะไรทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป เว้นแต่จะมีการปฏิวัติรัฐประหารอีก"