posttoday

นายกฯโชว์รัฐบาลคสช.แก้ภัยแล้งสำเร็จเป็นปีแรก

01 มิถุนายน 2561

นายกฯโชว์ผลงานรัฐบาลบูรณาการไร้ภัยแล้งสำเร็จเป็นปีแรกเตรียมสังคยานาแผนบริหารน้ำครั้งใหญ่ 4 มิ.ย.นี้

นายกฯโชว์ผลงานรัฐบาลบูรณาการไร้ภัยแล้งสำเร็จเป็นปีแรกเตรียมสังคยานาแผนบริหารน้ำครั้งใหญ่ 4 มิ.ย.นี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวผ่านรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ว่า  ปี 2561 นี้ก็นับเป็น "ปีแรก" ที่ไม่มีพื้นที่ใดของประเทศ ต้องประกาศเขตให้การช่วยเหลือ "ภัยแล้ง"โดยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่บูรณาการ  เชื่อมโยงกันเป็นระบบนำไปสู่ประสิทธิภาพสูงสุด โดยวัดได้จากการดำเนินงานในภาพรวม ที่เร็วขึ้นกว่าในอดีต "4 เท่า" และ ประหยัดงบประมาณลงได้กว่าช่วงที่ผ่านมาประมาณ "ร้อยละ 30"

ทั้งนี้ หากจะถามว่า อะไรที่เรียกว่า "บูรณาการ" ก็คงต้องเริ่มจากการบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและบริการ

รวมทั้ง น้ำสำหรับผลักดันน้ำเค็ม เพื่อรักษาสมดุลทางธรรมชาติ และยังมีการทำงานร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ซึ่งมีองค์ความรู้ตาม "ศาสตร์พระราชา" เพื่อให้ให้การดำเนินการเกี่ยวกับน้ำเป็นไปอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ GISDA เข้ามาร่วมในการให้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ที่ช่วยให้การติดตามสถานการณ์น้ำ มีความชัดเจน เที่ยงตรงขึ้น โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ Big data ของทุกหน่วยงาน ให้เป็นภาพเดียวกัน จะช่วยให้การติดสินใจต่างๆ ทำได้ครบทุกมิติ ทันเวลา และมีประสิทธิภาพ ที่กล่าวมานั้น ได้ทำงานภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่ย่อว่า (กนช.) โดยปัจจุบันได้ตั้ง สำนักงานนี้นะครับที่เรียกว่า สทนช. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ให้มีการดำเนินการอย่างมีเอกภาพ ด้วยการรวมหน่วยงานที่เกี่ยวกับน้ำไว้ด้วยกัน หลายสิบหน่วยงานด้วยกัน เพื่อทำให้เกิดการบูรณาการทั้งหน่วยงาน แผนงาน โครงการ  ทรัพยากร บุคลากร และงบประมาณ

สิ่งสำคัญก็คือ การดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ มีการจัดทำแผนแม่บท การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พ.ศ. 2560 ถึง 2579 ที่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วย นอกจากจะมีการน้อมนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้แล้ว เรายังได้คำนึงถึงปฏิญญาสากล จากการประชุมน้ำโลก ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ อาทิ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การร่วมมือกันของรัฐบาลทั่วโลก การร่วมมือข้ามพรมแดน โดยยึดตามกฎหมายระหว่างประเทศ การส่งเสริมศักยภาพคนรุ่นใหม่ ในการแก้ปัญหาน้ำ และสุขาภิบาล อีกทั้ง การเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) เป็นต้น

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงาน 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จะจัดให้มีการสร้างการรับรู้ และเสวนาเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ในวันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน นี้ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก็ขอให้ติดตามในรายละเอียดต่อไป

นายกฯ กล่าวว่า จะขอนำมากล่าวโดยสรุป ดังนี้

1. การจัดการน้ำอุปโภค บริโภค เราสามารถสร้างระบบประปาหมู่บ้านได้ 97% จาก 7,490 หมู่บ้าน ทั่วประเทศ ที่ยังมีไม่ครบ  ประปาโรงเรียนดำเนินการแล้วเสร็จ เกือบ 2,000 แห่ง และ เจาะบ่อบาดาลได้ เกือบ 2,000 แห่ง ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

2.การสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้ภาคการผลิต เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม อาทิ การพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งในและนอกเขตชลประทาน การขุดสระน้ำในไร่นา การเจาะน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร และ น้ำบาดาลช่วยภัยแล้ง เป็นต้น ก็มีประชาชนได้รับผลประโยชน์ กว่า 3 ล้านครัวเรือนครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 2 ล้านไร่

3. การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ได้แก่ การขุดลอกลำคลอง ลำน้ำสาขา  แม่น้ำสายหลัก เกือบ 300 กิโลเมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วม 63 ชุมชน  ก็ยังคงมีอีกในที่อื่นๆ ก็ทำต่อไป

4. การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ที่เสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายหน้าดิน โดยดำเนินการแล้ว 3 แสนกว่าไร่ 

นอกจากนี้ ยังมีการจัดการคุณภาพน้ำและที่จะสร้างความยั่งยืน ก็คือ การเร่งรัดออก "กฎหมายทรัพยากรน้ำ" ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ  และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ เราต้องศึกษาผลกระทบในคราวเดียวกันด้วย

สำหรับแผนงานบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ ปี 2561 นี้ มีแผนงานที่ผ่านการพิจารณาให้ดำเนินการเพิ่มเติมอีก 216 โครงการ งบประมาณ 4 พันกว่าล้านบาท  เพื่อให้ได้น้ำ 27 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ ราว 9 แสนไร่

และ ในปี 2562 มีอีกกว่า 3 พันโครงการ ที่กำลังพิจารณาจัดลำดับความเร่งด่วนและ ให้เกิดการใช้งบประมาณที่ประหยัด คุ้มค่า ได้ประโยชน์สูงสุด ตรงความต้องการของพี่น้องประชาชน

ทั้งนี้ จะต้องมีการลงทุนสร้างระบบต่างๆ เพื่อสนับสนุนการตกลงใจเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ อาทิ ระบบงานแผนที่  ระบบงานแบบจำลอง  ระบบงานคลังข้อมูลน้ำ ระบบงานสถานีตรวจวัดเป็นต้น

นายกฯ ได้ยกตัวอย่างการนำข้อมูลที่บูรณาการกัน ของทุกหน่วยงาน มาจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ ในฤดูฝนช่วยให้เราสามารถวางแผนเพาะปลูกข้าว ในช่วงฤดูฝนปีนี้ จำนวน 60 ล้านไร่ โดยมีการจัดสรรน้ำ เพื่อใช้ในทุกภาคส่วนได้อย่างเพียงพอ กว่า 88,000 ล้านลูกบาศก์เมตรและ เมื่อสิ้นฤดูฝน ก็จะต้องมีน้ำต้นทุน สำหรับทำการเกษตรฤดูแล้ง ปี 2561/2562 ได้อีก ราว 60,000 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกหลายอย่าง ที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไป อาทิ การจัดทำปฏิทินอุทกภัยจากมรสุมต่างๆ การกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ด้วยข้อมูลสถิติย้อนหลัง 55 ปี จำแนกตามความรุนแรง โดยมีแผนเผชิญเหตุรองรับ แผนบริหารจัดการน้ำหลาก ในลุ่มน้ำต่างๆ โดยใช้ทุ่งที่เชื่อมโยงกันในการหน่วงน้ำ ชะลอน้ำ

รวมทั้ง การเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำ ไม่ให้ล้น หรือพร่องน้ำจนไม่เหลือน้ำต้นทุนไว้ใช้ในอนาคต คงต้องสำรวจอ่างเก็บน้ำเก่าๆที่มีอายุยาวนานด้วย อาจต้องมีการซ่อมแซม เหล่านี้เป็นต้น