posttoday

"โบว์ ณัฏฐา" แกนนำอยากเลือกตั้งยื่นอุทธรณ์ค้านฝากขัง

28 พฤษภาคม 2561

"โบว์ ณัฏฐา" หนึ่งในแกนนำอยากเลือกตั้งยื่นอุทธรณ์ค้านฝากขัง คดีชุมนุมครบ 4 ปี คสช. ทนายชี้กระบวนการฝากขังไม่ชอบด้วยกฎหมาย

"โบว์ ณัฏฐา" หนึ่งในแกนนำอยากเลือกตั้งยื่นอุทธรณ์ค้านฝากขัง คดีชุมนุมครบ 4 ปี คสช. ทนายชี้กระบวนการฝากขังไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ วิทยากรอิสระ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ผู้ต้องหาคดีปลุกปั่นยุยงชุมนุมทางการเมือง เดินทางมาพร้อมกับ นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ในฐานะทนายความกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เดินทางมายื่นอุทธรณ์ คัดค้านคำสั่งอนุญาตฝากขังของศาลอาญากรณีที่คณะพนักงานสอบสวน บก.น. ยื่นคำร้องฝากขังครั้งแรก 15 แกนนำคนอยากเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขัง โดยยกคำคัดค้านฝากขังของกลุ่มแกนนำคนอยากเลือกตั้ง

การฝากขังดังกล่าว สืบเนื่องจาก เหตุการณ์ที่ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ชุมนุมเนื่องในโอกาสครบรอบ 4 ปี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระหว่างเย็นวันที่ 21-22 พ.ค.ที่ผ่านมาบริเวณหน้า ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยเรียกร้องการเลือกตั้ง ซึ่งกลุ่มคนอยากเลือกตั้งมีความพยายามจะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล แต่เจ้าหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะไม่อนุญาต โดยมีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งชุดที่นำโดยนายอานนท์ นำภา , น.ส.ณัฏฐาหรือโบว์ และ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ได้เคลื่อนไปยังสะพานมัฆวานรังสรรค์ และได้อ่านแถลงการณ์หน้าอาคารองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

นายนรินท์พงศ์ ทนายความของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กล่าวว่า มายื่นอุทธรณ์คำสั่งฝากขังที่เราคิดว่าขัดต่อกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชน เราเชื่อว่ากระบวนการฝากขังไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้ศาลอุทธรณ์เห็นรายละเอียดการดำเนินการกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเป็นเรื่องขัดสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายธรรมดาหรือกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ด้าน น.ส.ณัฏฐา กล่าวว่า วันนี้เราไม่ได้มายื่นอุทธรณ์เพื่ออิสรภาพ เพราะทุกคนเห็นแล้วว่าตนมีอิสรภาพจากการประกันตัว แต่เรามายื่นเพื่อยืนยันหลักนิติธรรมว่ากระบวนการนั้นมิชอบ คือต้องถือว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับคำตัดสิน ในคำสั่งฝากขังมีข้อความบางช่วงตอนที่บอกว่าผู้ต้องหาน่าจะกระทำผิดจริง มีปัญหาและตั้งคำถามได้ และเหตุผลของพนักงานสอบสวนที่ขอคัดค้านการฝากขัง การสอบพยานและรอผลพิมพ์ลายนิ้วมือ หากเรามีอิสรภาพก็ยังทำได้อยู่ ไม่จำเป็นต้องเอาเราไปขัง

"หลักฐานทุกอย่างอยู่ในสื่อมวลชน คลิปวิดีโอ และโลกออนไลน์อยู่แล้ว หลักในการฝากขังจำกัดเสรีภาพตามกฎหมายต้องมีความจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น คืออิสรภาพเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน เช่น การหลบหนี ซึ่งคดีนี้เรามอบตัวเองเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ทั้งที่ยังไม่มีหมายจับ การยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือเป็นบุคคลอันตราย ซึ่งเราไม่ใช่อาชญากร คดีนี้เป็นคดีการเมือง จึงผิดตั้งแต่ขั้นพนักงานสอบสวนแล้วที่พยายามฝากขังเป็นการกลั่นแกล้ง" น.ส.ณัฏฐา กล่าว

น.ส.ณัฏฐา กล่าวด้วยว่า ในการยื่นอุทธรณ์ เราใช้สิทธิในฐานะผู้ต้องหา ซึ่งหากการอุทธรณ์เป็นผลคำสั่งการฝากขังนั้นจะต้องถูกยก แล้วเงินประกัน 1.5 ล้านบาท ( 15 แกนนำคนอยากเลือกตั้งรายละ 1 แสนบาท) ก็จะต้องได้รับกลับคืนมา อย่างไรก็ดีการยื่นอุทธรณ์วันนี้เป็นในนามของตนคนเดียวทั้งนี้เพื่อความรวดเร็ว หากกลุ่มคนอยากเลือกตั้งอีก 14 คน ประสงค์จะยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งฝากขังก็สามารถตามกันมาได้

ทั้งนี้สำหรับคดีของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในส่วนของตนคดีนี้ถือเป็นคดีที่ 4 แล้ว โดยพวกตนทั้งหมดร้อยกว่าคนไม่สามารถหาเงินประกันมาได้แน่ๆ และไม่ต้องการรบกวนสังคมในการระดมทุนอีก เป็นเงินที่ไม่ควรจะต้องเสียในการละเมิดโดยใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ เราต้องตั้งหลักและต้องสู้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อยื่นคำอุทธรณ์แล้ว เบื้องต้น แผนกอุทธรณ์-ฎีกาของศาลอาญา ก็ได้รับคำร้องเพื่อเสนอพิจารณาตามขั้นตอนต่อไปก่อนจะมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดออกมา

สำหรับคดีที่มีการฝากขัง 15 แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนั้น ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้ง 15 คน โดยตีราคาประกันคนละ 100,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้าม ผู้ต้องหาทำการชุมนุมทางการเมืองอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายแก่สังคมด้วย

ส่วนกรณีที่ 15 แกนนำคนอยากเลือกตั้ง ยื่นคำคัดค้านการฝากขังครั้งแรกนั้น ศาลอาญา พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาทั้ง 15 คนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งผู้ต้องหาสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ในชั้นพิจารณา เมื่อคดีอยู่ระหว่างที่พนักงานสอบสวนยังสอบสวนไม่แล้วเสร็จ จึงมีเหตุที่ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องฝากขังได้ ศาลจึงให้ยกคำร้องคัดค้านการฝากขัง