posttoday

พิชัย แนะ รัฐบาลลดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลแก้ดีเซลแพง

22 พฤษภาคม 2561

“พิชัย” แนะ “นายกฯ” แก้น้ำมันแพงโดยลดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ช่วยประชาชน ย้อน มีผลงานอะไร ด้านพลังงาน ทุกวันนี้ยังสับสนหาทิศทางไม่เจอ

“พิชัย” แนะ “นายกฯ” แก้น้ำมันแพงโดยลดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ช่วยประชาชน ย้อน มีผลงานอะไร ด้านพลังงาน  ทุกวันนี้ยังสับสนหาทิศทางไม่เจอ

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน กล่าวว่า ประชาชนกำลังเดือดร้อนกันอย่างมากจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่สูงแตะลิตรละ 30 บาทแล้ว ทั้งที่ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงกว่าบาเรลละ 100 เหรียญ ซึ่งสูงกว่าตอนนี้ที่อยู่ประมาณบาเรลละ 70 กว่าเหรียญมาก แต่ราคาดีเซลยังต่ำกว่า 30 บาท ทั้งนี้เพราะรัฐบาลในขณะนั้นเห็นใจประชาชนจึงลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และ การลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันสำหรับน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งอยากให้ พล.อ. ประยุทธ์นำไปพิจารณาเอาแบบอย่าง เพราะ ราคาน้ำมันโลกน่าจะผันผวนระยะหนึ่งเท่านั้น เมื่อราคาน้ำมันโลกปรับลงมาสู่ปกติ ก็สามารถจะเรียกเก็บภาษีใหม่ได้ ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ให้สูงเกินไปจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังย่ำแย่ โดยปัจจุบันมีการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลถึง 5.85 บาท ซึ่งน่าจะลดลงมาได้ ส่วนกองทุนน้ำมันก็เก็บน้อยอยู่แล้วเพราะความจำเป็นน้อยลงหลังจากลอยตัวราคาก๊าซ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลเร่งพิจารณาลดการจับเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงเพื่อช่วยเหลือประชาชน ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์เคยประกาศถามตนว่า ตอนอยู่ในตำแหน่งทำอะไร ทั้งที่ตนได้ทำหลายเรื่องเช่น ยกเลิกเบนซิน 91 ทำให้มีการใช้เอทานอลมากขึ้น งดการเก็บกองทุนน้ำมัน  ลดการอุดหนุนพลังงานแสงอาทิตย์ตามราคาต้นทุนที่ต่ำลง ย้ายศูนย์ป้องกันน้ำท่วมเข้ากระทรวง ออกเครดิตการ์ดพลังงาน เริ่มลอยตัวราคาก๊าซ ฯลฯ

ดังนั้นจึงขอย้อนถามกลับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ตลอด 4 ปี รัฐบาลนี้มีผลงานทางพลังงานอะไร เพราะยังไม่เห็นผลงาน จึงอยากให้พล.อ.ประยุทธ์ช่วยชี้แจงด้วยไม่ใช่เอาแต่ว่าคนอื่น เพราะนอกจากไม่มีผลงานแล้วยังทำให้ทิศทางพลังงานของประเทศสับสน โดยเฉพาะเรื่องการงดซื้อพลังงานหมุนเวียน 5 ปี ที่สร้างความสับสนให้กับประชาชนและนักลงทุน ขนาดสภาอุตฯ ยังต้องออกมาเรียกร้อง อีกทั้งยังสวนกระแสโลกที่มุ่งสู่พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด แถมยังจะส่งเสริมโรงไฟฟ้าถ่านหินที่หลายประเทศกำลังจะเลิกใช้แล้ว พร้อมกับข้อครหาทุจริตการซื้อหุ้นเหมืองถ่านหินในอินโดนิเซียมูลค่าหมื่นล้านบาทแต่ได้หุ้นแค่ 11-12% และข้อครหาการออกใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจำนวนมากเพื่อแลกผลประโยชน์ อีกทั้งยังห้ามประกาศราคาน้ำมันขึ้นลงล่วงหน้า ทั้งๆที่ประชาชนควรจะได้ทราบการปรับราคาก่อน ซึ่งทั้งหมดนี้สร้างความงุนงงให้กับประชาชนในทิศทางพลังงานของรัฐบาลนี้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตุว่าแม้ราคาน้ำมันโลกได้ลดลงตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ประเทศลดค่าใช้จ่ายลงปีละหลายแสนล้านบาท แต่รัฐบาลกลับไม่สามารถใช้โอกาสที่ประเทศจ่ายค่าน้ำมันลดลงนี้ให้เป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจได้ เพราะการเจริญเติบโตของไทยต่ำมาโดยตลอด 4 ปี