posttoday

"บิ๊กตู่"เปลี่ยนชื่อฝ่ายค้านเป็น"ฝ่ายค้านและสนับสนุน"

04 พฤษภาคม 2561

นายกฯขอสร้างความรู้สึกใหม่ทางการเมือง แนะเปลี่ยนชื่อ"ฝ่ายค้าน" เป็นฝ่ายค้านและสนับสนุนเปลี่ยนจากมุ่งโจมตีเป็น"ติเพื่อก่อ"จุดประกาย"วัฒนธรรมปรองดอง"

นายกฯขอสร้างความรู้สึกใหม่ทางการเมือง แนะเปลี่ยนชื่อ"ฝ่ายค้าน"เป็นฝ่ายค้านและสนับสนุนเปลี่ยนจากมุ่งโจมตีเป็น"ติเพื่อก่อ"จุดประกาย"วัฒนธรรมปรองดอง"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวผ่านรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แนะนำนักการเมือง ให้เรียกฝ่ายค้านใหม่เป็นฝ่ายค้านและสนับสนุน เพื่อจะได้ร่วมมือกันทำงานสร้างความปรองดอง

"ที่ผ่านมาเราคงคุ้นเคยการทำงานของบรรดาสมาชิกหรือสส.ในสภา ที่แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ “ฝ่ายรัฐบาล กับ ฝ่ายค้าน”ซึ่งต่างก็ทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองเหมือนกัน เรามักจะเรียกว่า “ฝ่ายค้าน”กับ“ฝ่ายรัฐบาล”ทำไมเราไม่ลองเรียกว่าฝ่ายหนึ่งคือ “ฝ่ายรัฐบาล” อีกฝ่ายหนึ่งคือ “ฝ่ายค้านและสนับสนุน” ฝ่ายค้านก็คือว่ามีการตรวจสอบ
มีการทักท้วง แต่เรื่องใดก็ตามที่เป็นยุทธศาสตร์ชาติ เป็นนโยบายที่มีการปฏิรูป อันนี้ก็ต้องสนับสนุนกัน ไม่งั้นมันก็ล้มกันไปหมด มันก็เลยทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง ประเทศชาติมันก็ไม่มีแนวทางในการพัฒนาประเทศที่มันยั่งยืน มันอาจเปลี่ยนชื่อไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากให้สร้างความรู้สึกใหม่ๆขึ้นมา เรียกว่าฝ่ายรัฐบาล อีกฝ่ายก็ฝ่ายค้านและสนับสนุนเพื่อจะได้มีการตรวจสอบด้วย ไม่อยากให้ค้านกันไปกันมาทุกเรื่อง ค้านก็เพื่อเป็นการตรวจสอบ และถ่วงดุลในสิ่งที่มันควรจะเป็น“ติเพื่อก่อ”มีข้อเสนอแนะ บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งเพื่อสนับสนุนให้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ไม่ว่าจะจากพรรคใดก็ไม่สำคัญ แต่ต้องมี “ธรรมาภิบาล” มีโครงการ มีแผนงานมีนโยบายที่ถูกต้อง เหมาะสม
ถ้าหากเป็นเช่นนั้นได้ เราก็จะเป็นการสร้างวัฒนธรรม “การปรองดอง” ที่ไม่ใช่การเอาชนะคัดค้านกันเหมือน “การโต้วาที” ที่มุ่งเป้าหมายของตัวเองเป็นหลัก โจมตีกันไป กันมา แล้วก็ปิดทุกประตูทางออก ปฏิเสธทุกข้อเสนอ ทุกความเห็นต่าง เหมือนพยายามผลักปัญหาเข้าสู่ “ทางตัน” สุดท้ายแล้วประเทศชาติ และเราทุกคน ก็เป็นผู้เสียหาย

"ดังนั้น คืนนี้ ผมจึงขอฝากให้ช่วยกันพิจารณาการสร้างวัฒนธรรมการปรองดองนี้ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานใหม่กับสังคมไทยไม่ได้หมายความว่าปรองดองเพื่อหาประโยชน์ร่วมกันจะต้องทำให้เกิดธรรมาภิบาลให้ได้ อยู่ที่พวกเราทุกคนให้เราสามารถบริหารความขัดแย้งได้ ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยกฎหมายปกติที่มีอยู่แล้วหา“จุดลงตัว”ให้ได้ บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงใช้นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ “ร่วมกัน” ในการพิจารณาหาทางออกซึ่งเป็น “ศาสตร์พระราชา” ที่พระราชทานไว้ ให้เป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติ.