posttoday

รื้อบ้านพักคืนผืนป่า ระเบิดลูกใหม่ คสช.

04 พฤษภาคม 2561

ปรากฏการณ์มวลชนหลายร้อยคนออกมารวมตัวในกิจกรรม “วันประกาศเจตนารมณ์ประชาชน ทวงคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” กำลังเป็นสัญญาณอันตรายสำหรับรัฐบาล

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

ปรากฏการณ์มวลชนหลายร้อยคนออกมารวมตัวในกิจกรรม “วันประกาศเจตนารมณ์ประชาชน ทวงคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา กำลังเป็นสัญญาณอันตรายสำหรับรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อการเผชิญหน้าปัญหาเรื่องบ้านพักตุลาการบริเวณพื้นที่ป่าดอยสุเทพ 

ล่าสุด การรณรงค์ในเว็บไซต์ change.org ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 คืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ 147 ไร่ 3 งาน 41 ตารางวา มียอดผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 5.3 หมื่นคน

ไม่ต่างจากการแสดงความคิดความเห็น เฟซบุ๊ก “ไทยคู่ฟ้า” ที่มีประชาชนมาร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า  2.2 โพสต์ ส่วนใหญ่เห็นว่าควรรื้อถอน ทุบทิ้ง พร้อมถามหาผู้รับผิดชอบ

แต่การตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อสำนักงานศาลยุติธรรมชี้แจงถึงข้อเท็จจริงในการก่อสร้างว่าศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีหนังสือลงวันที่ 13 มี.ค. 2546 รายงาน ความคืบหน้าเกี่ยวกับการขอใช้ที่ดินมายังสำนักงานศาลยุติธรรมว่า มณฑลทหารบกที่ 33 ขอให้จัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงที่ขอใช้ เพื่อเสนอกองทัพบกพิจารณา

โดยมณฑลทหารบกที่ 33 ได้มีหนังสือลงวันที่ 4 มี.ค. 2547 แจ้งว่าไม่ขัดข้องที่จะให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้ที่ดินเนื้อที่รวม 147-3- 41 ไร่ เพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพักข้าราชการฝ่ายตุลาการ และขอให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การดูแลบำรุงรักษาที่ราชพัสดุ

ตลอดจนสำนักงานศาลยุติธรรมได้มีหนังสือลงวันที่ 19 ก.ย. 2548 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ขอใช้ที่ดินเนื้อที่ประมาณ 147-3-41 ไร่ กรมธนารักษ์มีหนังสือลงวันที่ 21 ก.ค. 2549 แจ้งอนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรม ใช้ที่ดินราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม. 1723 (บางส่วน) เนื้อที่ 147-3-30 ไร่ ตามวัตถุประสงค์ที่ขอใช้

สอดรับกับที่ทาง สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ชี้แจงว่ากรณีสร้างบ้านพักตุลาการศาล เชิงดอยสุเทพไม่ใช่บ้านพักส่วนตัวของใคร เป็นทรัพย์สินที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน ขั้นตอนในการดำเนินการมีการดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ได้มีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ

“ศาลได้นำเรื่องนี้ไปหารือกันผ่านคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) แล้ว ซึ่ง ก.บ.ศ.มีมติเห็นพ้องกันว่าขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้หาทางออกในเรื่องนี้แทน หากสุดท้ายแล้วนายกรัฐมนตรีมีแนวทางอย่างไร ศาลก็พร้อมยอมรับและนำไปปฏิบัติตามทุกอย่าง” 

เผือกร้อนจึงตกมาอยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์ ท่ามกลางการจับตาว่าจะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือเข้ามาจัดการเรื่องนี้หรือไม่อย่างไร  แต่ที่สำคัญไม่ว่าทางออกเรื่องนี้จะออกมาอย่างไร ย่อมมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อยู่ที่เหตุผลที่จะหยิบยกมาอธิบายให้สังคมได้เข้าใจ

จับสัญญาณจาก วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาอธิบายว่าการทุบบ้านดังกล่าวทิ้งถือเป็นการทำผิดกฎหมาย ทำลายทรัพย์สินของราชการที่ใช้งบประมาณกว่าพันล้านบาทในการก่อสร้าง 

“ฝ่ายศาลก็บอกว่าเขาทำถูกกฎหมาย ทุกฝ่ายก็บอกว่าตัวเองทำถูกกฎหมาย ประชาชนก็ยอมรับว่าฝ่ายศาลก็ทำถูกกฎหมาย แต่มันขัดความรู้สึกและขัดธรรมาภิบาล อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันคิดหลายตลบ เพราะเขาจึงมีมติที่แตกออกไปหลายประเด็น ส่วนหนึ่งที่อยากให้รื้อ ขณะที่อีกส่วนบอกว่าไม่ต้องรื้อ แต่ให้ผู้อื่นเข้าไปใช้ประโยชน์”

วิษณุ ประเมินว่าโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกวันนี้ก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่ใช้ แต่ไปใช้เฉพาะเรื่องที่จำเป็น แม้จะมีประชาชนบางส่วนขอให้ใช้มาตรา 44 สั่งทุบบ้าน แต่นายกฯ บอกว่ามันไม่ใช่เป็นเหตุเป็นผลที่จะไปทำอย่างนั้น

เรื่องนี้เริ่มกลายเป็นปัญหาใหญ่จากเดิมที่เคยมองว่าเป็นเรื่องที่น่าจะตกลงกันได้ จนมอบหมายเจ้าหน้าที่จากกองทัพเปิดห้องประชุมกองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือทางออกซึ่งสุดท้ายก็ไม่อาจหาข้อสรุปได้ 

จนมาวันนี้รัฐบาลมอบหมายให้ สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปจัดการ ซึ่งจะลงพื้นที่วันที่ 6 พ.ค. เพื่อพูดคุยภาคประชาชนเป็นหลักเพื่อพูดคุยในภาพปฏิบัติว่าเราจะทำอะไรได้ในระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ทางออกควรเป็นอย่างไร

ระหว่างที่รอดูว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร แรงกดดันย่อมย้อนกลับมายังรัฐบาล คสช.มากขึ้น โดยเฉพาะแรงกดดันที่มาจากภาคประชาชนที่มีแต่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากกลุ่มประชาชนที่มารวมตัวกันเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา และยังมีบางส่วนที่เคลื่อนไหวในสังคมออนไลน์ 

หากปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกใจมวลชน ย่อมเป็นชนวนให้ประชาชนออกมารวมตัวเคลื่อนไหวมากขึ้น ยังไม่รวมกับกลุ่มที่จ้องจะใช้โอกาสนี้สร้างสถานการณ์เพิ่มแรงกดดันให้กับรัฐบาล คสช. 

เมื่อพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ถือเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย จนเริ่มมีการจับตาว่าอาจมีการใช้โอกาสนี้เข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์ให้หนักกว่าที่ควรจะเป็น โดยหยิบเอาประเด็นที่สังคมกำลังสนใจขึ้นมาเป็นเชื้อปลุกการเคลื่อนไหว

ที่สำคัญยังสอดรับไปกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่นัดชุมนุมกันในวันที่  5 พ.ค.นี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดเจน ในช่วงโอกาสใกล้ครบ 4 ปีรัฐประหาร 

หากรัฐบาล คสช.ยังไม่อาจรีบปิดเกมเคลียร์ปัญหาเรื่องนี้ด้วยเหตุผลที่แต่ละฝ่ายพอจะยอมรับได้ แล้วนี่จะเป็นระเบิดเวลาลูกสำคัญที่เพิ่มแรงสั่นคลอนเสถียรภาพให้มากขึ้น และสุ่มเสี่ยงที่จะกระทบไปภาพรวมการทำงานของ คสช.ในอนาคต