posttoday

พช.เล็งดันโอทอปสร้างศก.ฐานราก-ลดเหลื่อมล้ำ

02 พฤษภาคม 2561

กรมการพัฒนาชุมชน เล็งดันโอทอปสร้างเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ

กรมการพัฒนาชุมชน เล็งดันโอทอปสร้างเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ

นายอภิชาต โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดทำโครงการ “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” ซึ่งนับเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ ซึ่งจะส่งผลดีกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจฐานราก และลดความเหลื่อมล้ำของสังคม โดยการนำนวัตกรรมาผสมผสานกับวิถีชีวิต ในการผลิตสินค้าท้องถิ่นหรือผลิตภัณฑ์โอทอป ภายใต้แนวคิด ร่วมสุข ร่วมวิถี ร่วมสมัย  (Happiness Oriented)พร้อมกับผนวกการท่องเที่ยวของชุมชนเข้าไป

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา พัฒนาการของโอทอป ส่งผลต่อเศรษฐกิจฐานรากใน 3 ช่วง ช่วงแรกปี 2546-2556 เป็นช่วงหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ - พออยู่ พอกิน ช่วงที่ 2 ระหว่างปี 2557-2560 เป็นช่วงหลากเสน่ห์ หลายผลิตภัณฑ์ -อยู่ดี กินดี และปี 2561 เป็นช่วงนวัตวิถี ร่วมสุข ร่วมวิถี ร่วมสมัย -มั่งมี ศรีสุข   ซึ่งเปลี่ยนจากการผลักดันสินค้าโอทอป โดยรัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือทุกด้านเป็นการกระจายรายได้ตามความต้องการของชุมชน โดยใช้ชุมชนเป็นตัวตั้ง

นายอภิชาต กล่าวต่อว่า เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ชุมชนท่องเที่ยวระดับหมู่บ้านหรือ “แอ่งเล็ก” ที่มีอัตลักษณ์ และช่วยกันยกระดับสินค้าโดยนำนวัตกรรมมาผสมผสานกับวิถีของชุมชนอย่างน้อย 1 หมู่บ้านต่อสินค้า 10 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะทำให้ชุมชนมีรายได้และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง

“ทางกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยได้วางกรอบแนวทางเพิ่มความเข้มข้นในการจัดกิจกรรมเพิ่มรายได้ตามโครงการ “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงแรกในเดือนพ.ค. 2561 จะจัดสัมมนาการขับเคลื่อนชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ช่วงที่ 2 ระหว่างเดือนมิ.ย. – ส.ค. 2561 มีการจัดสัมมนาย่อยการขับเคลื่อนชุมชนท่องเที่ยว และช่วงที่ 3 เดือนก.ย. 2561 เน้นไปที่การจัดประชาสัมพันธ์ สร้างความรับรู้แก่ทุกภาคส่วนทั้งความก้าวหน้าและความสำเร็จของ OTOP นวัตวิถี จากนั้นจัดแสดงผลงานประกาศความสำเร็จและนำ Tourism Platform ซึ่งเป็นBig Data เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย”อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ระบุ

นอกจากนี้ พช.ตั้งเป้าความสำเร็จของโครงการไว้ คือ ผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่ม D ได้รับการพัฒนาไม่น้อยกว่า 64,750 ผลิตภัณฑ์ ,รายได้เฉพาะการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 ,ชุมชน/หมู่บ้านได้รับการพัฒนาด้านการจัดการท่องเที่ยวชุมชน จำนวน 3,273 ชุมชน/หมู่บ้าน กระจายใน 76 จังหวัด และผ่านการประเมินระดับมั่งมี ศรีสุข ตามเกณฑ์และตัวชี้วัดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของกระทรวงมหาดไทย

"ผลสัมฤทธิ์ของโครงการดังกล่าวยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยมีการกระจายรายได้ไม่น้อยกว่า 60% ของกลุ่มเป้าหมาย ,เกิดชุมชนเข้มแข็ง ยั่งยืน มีการเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการพัฒนาแบบบูรณาการทุกพื้นที่เป้าหมาย ครอบครัวอบอุ่น ลูกหลานกลับบ้าน ประกอบอาชีพ มีรายได้ อยู่ในชุมชนอย่างมีความสุขอีกด้วย"นายอภิชาต กล่าว