posttoday

ประกาศแผนปฏิรูป 11 ด้าน ห้ามนักการเมืองจัดม็อบชุมนุม

07 เมษายน 2561

ประกาศใช้แผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ดันใช้ประชามติแก้ปมขัดแย้ง วางกฎห้ามนักการเมืองจัดม็อบ

ประกาศใช้แผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ดันใช้ประชามติแก้ปมขัดแย้ง วางกฎห้ามนักการเมืองจัดม็อบ

เมื่อวันที่ 6 เม.ย. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศนายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ ทั้ง 11 ด้าน หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับทราบแผนปฏิรูปจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

สำหรับแผนการปฏิรูปประเทศที่น่าสนใจ คือ แผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง โดยเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนการออกพระราชบัญญัติการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และจัดให้มีสถาบันหรือองค์กรคลังปัญญากลาง เพื่อทำหน้าที่ในการศึกษา วิจัยและสร้างสรรค์สติปัญญา เพื่อเป็นข้อเสนอในการปฏิรูปและพัฒนาการเมืองอย่างต่อเนื่อง และเป็นข้อมูลประกอบในการวางแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองทุก 5 ปี

นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้รัฐบาลไม่ควรสนับสนุนกลุ่มคน หรือม็อบให้ออกมาแสดงออก เพื่อสนับสนุนหรือเชียร์รัฐบาล รวมทั้งให้มีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่เบื้องหลัง หรือสนับสนุนม็อบในทางการเมือง พร้อมมีมาตรการที่เป็นสภาพบังคับ โดยหากผู้ใดฝ่าฝืนอาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม หากมีประเด็นสำคัญของประเทศที่จำเป็นต้องใช้ความเห็นของคนส่วนใหญ่เพื่อหาข้อยุติ ให้ใช้มาตรการการทำประชามติ และให้ยึดหลักแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งในทางการเมือง โดยใช้กระบวนการทางรัฐสภา

ขณะที่แผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีความน่าสนใจเช่นกัน โดยเสนอให้มีการจัดทำกฎหมายใหม่ขึ้นมาหลายฉบับ อาทิ กฎหมายว่าด้วยวินัยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และบุคลากรในองค์กรอิสระ รวมถึงองค์กรตุลาการ และหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ กฎหมายว่าด้วยความผิดกรณีการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม กฎหมายว่าด้วยการยักยอก การเบียดบัง หรือการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ กฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและใช้อิทธิพลเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิชอบ กฎหมายว่าด้วยการเรี่ยไร การรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการร่ำรวยผิดปกติของเจ้าหน้าที่ของรัฐ กฎหมายว่าด้วยการขัดขวางกระบวนการยุติธรรมในคดีการทุจริตและประพฤติมิชอบ

ทั้งนี้ การปราบปรามการทุจริตจะต้องมีตัวชี้วัด ได้แก่ 1.การไต่สวนคดีทุจริตประพฤติมิชอบสามารถนำตัวผู้กระทำผิดขึ้นสู่ศาลได้ในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดทุกคดี 2.จำนวนคดีที่ชี้มูลแล้วแต่ศาลยกฟ้องไม่เกิน 5% 3.สามารถนำทรัพย์สินที่รัฐเสียหายกลับมาได้มากกว่า 80% 4.มีฐานข้อมูลคดีทุจริตประพฤติ มิชอบและมาตรการป้องกันมิให้การทุจริตประพฤติมิชอบลักษณะนั้นทุกคดีเกิดขึ้นอีก