posttoday

นายกฯบินกัมพูชาร่วมประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3

05 เมษายน 2561

นายกรัฐมนตรี นำคณะเดินทางไปกัมพูชา ร่วมประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3

นายกรัฐมนตรี นำคณะเดินทางไปกัมพูชา ร่วมประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3 ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยนายกรัฐมนตรีได้ยิ้มทักทายสื่อมวลชน แต่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ

สำหรับ การประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย ผู้นำจากประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(Mekong River Commission: MRC) ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม รัฐมนตรีจากประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีนและเมียนมา และผู้แทนรัฐบาลประเทศหุ้นส่วนการพัฒนาและองค์การระหว่างประเทศ เป็นการประชุมระดับผู้นำของประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง สำหรับวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ คือ ประเทศสมาชิกจะร่วมแสดงจุดยืนร่วมกันในการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) ตลอดจนเพิ่มพูนความร่วมมือกับประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนบน ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และกรอบความร่วมมืออื่นๆ ในภูมิภาครวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับหุ้นส่วนการพัฒนาต่อแนวความร่วมมือของ MRC และ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้และการประยุกต์สำหรับการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง ร่วมกับลุ่มน้ำนานาชาติอื่นๆ

ซึ่งประเด็นที่นายกรัฐมนตรีจะผลักดันในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ ผลักดันความร่วมมือการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติจากภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วม และคุณภาพน้ำ เสริมสร้างบทบาทการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงให้ เป็นศูนย์กลางความรู้ด้านทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สนับสนุนให้นำองค์ความรู้ทางเทคนิควิชาการที่มี เพื่อพัฒนาสู่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการตัดสินใจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในลุ่มน้ำโขง ซึ่งประเทศสมาชิก หน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาและประชาชน สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ไทยจะผลักดันให้ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงมีความเข้มแข็งและโดดเด่น โดยการร่วมออกแบบองค์กร ให้ทันต่อสถานการณ์การพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการอย่างมีธรรมภิบาล การมุ่งเน้นนวัตกรรม การพัฒนาบนฐานทรัพยากร (Nature-Based Solutions) การใช้ทรัพยากรน้ำเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยพัฒนาสู่การเป็นเวทีด้านการทูตเรื่องน้ำของภูมิภาค ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนายกรัฐมนตรีจะเดินทางกลับประเทศไทยในวันเดียวกัน