posttoday

กกต.-พรรคการเมืองเห็นพ้องต้องแก้คำสั่งคสช.เพื่อจัดเลือกตั้งได้

28 มีนาคม 2561

กกต.แจงพรรคการเมือง เห็นพ้องต้องแก้คำสั่งคสช.เพื่อจัดเลือกตั้งได้

กกต.แจงพรรคการเมือง เห็นพ้องต้องแก้คำสั่งคสช.เพื่อจัดเลือกตั้งได้

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ในช่วงบ่ายเป็นการชี้แจงหลักการของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 53/2560 และชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจกรรมแก่พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นหรือเป็นพรรคการเมืองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2550

โดยนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า สิ่งที่พายามจะทำ คือ เรื่องประกาศคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ซึ่งพบปัญหาประมาณ 10 ประเด็น เพราะถ้ากฎหมายบอกว่า ให้กกต.ตอบได้ก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่กกต.ไม่สามารถตอบได้ เพราะคสช.ต้องเป็นคนตอบ แต่มีเรื่องเดียวที่อาจทำให้พรรคการเมืองเสียสิทธิ์ คือ ค่าบำรุงพรรค

ทั้งนี้ แต่หลักการของคำสั่ง คสช. เพื่อความเท่าเทียมกันของพรรคเก่าและพรรคใหม่ และหลักความสงบเรียบร้อย  ซึ่งเรื่องการยืนยันความเป็นสมาชิกพรรค ตามกฎหมายพรรคการเมืองในบทเฉพาะกาล ให้ยืนยัน 3 เรื่อง คือ ยืนยันความเป็นพรรคการเมือง ความเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรค และค่าบำรุงพรรคที่ต้องจ่าย 100 บาท ซึ่งวิธีการยืนยัน ได้ข้อสรุป คือสมาชิกสมาชิกรับรองตัวเอง ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม และมีหนังสือยืนยัน โดยจะเป็นเอกสารหรือหนังสืออีเล็กทรอนิกส์ก็ได้  และหลักฐานการชำระเงิน 100 บาท 

ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ขอใช้หลักฐานเป็นทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่มีปัญหา แต่ขอให้มีการยืนยันไว้ที่พรรค และพรรคการเมืองก็ต้องแจ้งนายทะเบียนพรรคการเมืองภายใน 30 วัน โดยพรรคการเมืองสามารถอำนวยความสะดวกทางธุรการให้สมาชิกติดต่อได้ คือ การมีจดหมาย หรือทางอีเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นให้ตอบกลับทางจดหมายหรือทางอีเล็กทรอนิกส์ก็สามารถทำได้ แต่ที่ทำไม่ได้ คือ การประชาสัมพันธ์ เพราะอาจผิดประกาศคสช.หากจะทำก็สามารถขออนุญาต คสช.ได้

สำหรับการปรับตัวของพรรคการเมืองเก่าต้องให้เขากับกฎหมายใหม่ เพราะทุนประเดิมบังคับทุกพรรคอยู่แล้ว และมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 500 คน หรือการยืนยันตามมาตรา 140  ถ้าสมาชิกไม่มายืนยัน พรรคต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ คือ การปรับตัวของพรรค ซึ่งพรรคเก่าได้เปรียบพรรคใหม่ที่ยังไม่มีสมาชิกเลย

ส่วนการประชุมใหญ่ของพรรค กฎหมายไม่ได้รับรองสาขาไว้ จึงเป็นความเท่าเทียมกัน เพราะที่ประชุมใหญ่ต้องมีสาขาพรรคเป็นองค์ประกอบ  ประเด็นอย่างนี้ก็ต้องแก้ให้มีการประชุมใหญ่ได้  ซึ่งผู้เกี่ยวข้องก็รับไปดำเนินการแล้ว ส่วนเรื่องการจัดตั้งสาขาต้องให้ครบถ้วนตามกฎหมาย จำนวน 4 สาขาภายใน 1 ปี แต่ยังไม่สามารถทำได้ ซึ่งได้มีหนังสือของกกต.ส่งไปยังคสช.ให้แก้คำสั่งที่ 57/2557 และคำสั่งที่ 3/2558 ที่เกี่ยวกับเรื่องวามสงบเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้มีการประชุมใหญ่ได้

ขณะที่ นายสมพล พรผล ผู้อำนวยการสำนักกิจการพรรคการเมือง กล่าวว่า การรายงานทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง เมื่อยืนยันเสร็จภายใน 30 วัน หัวหน้าพรรคต้องแจ้งรายชื่อสมาชิกที่ได้ยืนยันแล้วภายในวันที่ 30 พ.ค. 61 มายังนายทะเบียนพรรคการเมือง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการลาออกจากสมาชิกพรรคการเมืองค่อนข้ามากขึ้น ซึ่งเดิมการลาออกไปลาออกที่พรรค แต่ปัจจุบันมี 2ช่องทาง คือ ลาออกกับนายทะเบียนพรรคการเมือง และลาออกที่พรรค

"ขณะนี้มาลาออกกับนายทะเบียนพรรคการเมืองเพิ่มขึ้น และเมื่อลาออกแล้วนายทะเบียนพรรคการเมืองก็จะส่งโทรสารไปยังพรรคการเมือง โดยระบุวันเวลาพร้อมหนังสือลาออก ภายใน 3 วัน โดยนายทะเบนพรรคจะยึดตามเวลาที่ได้รับหนังสือ"นายสมพล กล่าว

จากนั้น กกต.ได้เปิดให้บรรดาพรรคการเมืองซักถามในประเด็นสงสัย โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถามว่า  อยากให้กกต.ดำเนินการอำนวยความสะดวกเพื่อให้พรรคการเมืองต่างๆ คงสมาชิกไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้สอดคล้องกับหลักพรรคการเมือง จึงอยากถามว่าการยืนยันสมาชิกยังจะต้องมีสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านหรือไม่ 

ทั้งนี้ มีสิ่งที่เป็นข้อวินิจฉัยที่ไม่ตรงกับกฎหมายที่เขียนไว้ก่อนมีคำสั่งที่ 53/2560 การที่พรรคการเมืองมีสมาชิกอยู่แล้วที่ต้องชำระค่าบำรุงควรมีเวลา เพราะกฎหมายให้เวลาสมาชิกปรับตัว 4 ปี  ซึ่งถ้าไม่ชำระภายในเวลาดังกล่าวจะต้องพ้นสภาพจากการเป็นสมาชิก แต่เมื่อมีคำสั่งที่ 53/2560 ออกมา และมาตรา 140 ของกฎหมายพรรคการเมือง ต้องให้สมาชิกยืนยันคุณสมบัติต้องห้ามพร้อมหลักฐานและชำระเงิน แต่มีข้อความระบุว่า ถ้าผู้ใดไม่ทำหนังสือยันยืนตามนี้ก็ให้พ้นจากการเป็นสมาชิก 

"เมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปีดังกล่าวให้สมาชิกกิที่ไม่ได้ชำระค่าบำรุงพ้นสภาพ แต่ขณะนี้กกต.กลับตีความว่า ถ้าไม่ชำระเงินภายใน 30 วันให้พ้นสภาพ แล้วพรรคการเมืองจะเหลืออะไร รวมถึงซึ่งเป็นการตีความไม่ตรงกัน จึงอยากให้กกต.ทบทวนเพื่อให้ตรงกับเจตนารมณ์"หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ

ขณะเดียวกัน เรื่องรายงาน 2 แบบ ทั้งหนังสือและอีเล็กทรอนิกส์เข้าใจว่าเป็นมติของกกต.แล้ว ทว่า ส่วนตัวอยากให้ทบทวนเพื่อความชัดเจนว่าจะให้ใช้แบบไหน ส่วนกรณีมีสมาชิกที่จะยืนยันตัวตนแต่ยังไม่พร้อมชำระเงิน ควรให้เวลาและโอกาสหัวหน้าพรรคได้ติดตามและรายงานต่อกกต.ได้หรือไม่ เพราะไม่ว่าจะอย่างไรทุกพรรคก็ต้องไปหาสมาชิก 500 คนอยู่แล้ว ซึ่งหัวหน้าพรรคก็ต้องลงนามอยู่แล้วแต่หัวหน้าพรรคทุกพรรคไม่สามารถลงนามได้ เนื่องจากไม่ทราบว่าใครมีคุณสมบัติต้องห้าม หรือถูกปลดจากราชการบ้าง รับรองแค่สิ่งที่รับรองมาแล้ว

อย่างวไรก็ดี นายแสวง ได้ตอบคำถามของนายอภิสิทธิ์ โดยยืนยันว่าไม่ต้องมีสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านแล้ว ส่วนการยืนยันความเป็นสมาชิกพรรค ก็ให้เป็นไปตามมาตรา 140 และการจ่ายเงินค่าสมาชิกให้เป็นไปตาม มาตรา 141 และก็จะรับข้อเสนอไปพิจารณา เพราะเรื่องนี้เป็นมติกกต. ทั้งนี้ ยืนยันคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 จะต้องแก้ไขไม่เช่นนั้นจะจัดการเลือกตั้งไม่ได้

ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้ตั้งคำถามไปยัง กกต.ว่า การยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคเป็นกิจกรรมสำคัญที่ทุกพรรคต้องทำ แต่ไม่สามารถโฆษณาได้จึงอยากให้ทบทวนเรื่องนี้ อีกทั้งพรรคการเมืองเก่ามีสมาชิกทั่วประเทศจำนวนมาก การยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคเป็นเรื่องสำคัญ

"จึงขอเสนอให้สาขาพรรค ผู้สมัครของพรรค และอดีตส.ส.ของพรรค เป็นตัวแทนรับใบยืนยันการเป็นสมาชิก หลักฐานและเงินค่าสมัคร เพื่อส่งให้พรรคเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก อีกทั้งยังมีข้อสงสัยเรื่องที่ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่กำหนดให้พรรคการเมืองเก่าต้องยุบสาขาพรรคแล้วให้ตั้งใหม่ภายในระยะเวลาที่กำหนด หากทำไม่ได้จะไม่สามารถส่งผู้สมัครได้ แต่ในกฎหมายดังกล่าวมาตรา 144 กำหนดให้พรรคการเมืองทุกพรรค จัดตั้งสาขาและตัวแทนประจำจังหวัดหากไม่ทันตามกำหนดสามารถส่งผู้สมัครได้ ซึ่งเป็นข้อความที่ขัดแย้งกัน อยากฝากประเด็นนี้เพื่อปรับถ้อยคำที่ขัดกันเองด้วย"นายชูศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ บรรดาพรรคเล็ก อาทิ พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย พรรคปฎิรูปไทย ได้ถามกกต.ถึงการเลือกตั้งว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และในเดือน ก.พ. 62 จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นหรือไม่ ขอให้ กกต.ไปหารือกับ คสช. ว่าจะมีการประกาศกฤษฎีกาเลือกตั้งเมื่อไร่ ขณะที่ กกต.ตอบเพียงว่า “ทุกคนรู้เท่ากัน”