posttoday

"ศาลอุทธรณ์"สั่งจำคุก6ปี "สุธรรม มลิลา"อดีตบิ๊กทศท.ทุจริต ให้ชดใช้4.6หมื่นล้าน

27 มีนาคม 2561

เปิดคำตัดสิน "ศาลอุทธรณ์" พิพากษาจำคุก 6 ปี "สุธรรม มลิลา" ทุจริตแก้สัญญาโทรศัพท์บัตรเติมเงินเอื้อเอกชน พร้อมสั่งชดใช้ทีโอที4.6หมื่นล้าน เจ้าตัวยื่นฎีกาสู้คดี

เปิดคำตัดสิน "ศาลอุทธรณ์" พิพากษาจำคุก 6 ปี "สุธรรม มลิลา" ทุจริตแก้สัญญาโทรศัพท์บัตรเติมเงินเอื้อเอกชน พร้อมสั่งชดใช้ทีโอที4.6หมื่นล้าน เจ้าตัวยื่นฎีกาสู้คดี

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซ.สีคาม ถ.นครไชยศรี ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา คดีอัยการสูงสุด ได้ยื่นฟ้อง นายสุธรรม มลิลา อดีต ผอ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) เมื่อปี 2544 ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทีโอที ในความผิด ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด มาตรา157

บริษัท ทีโอที ได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลย ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี จากการที่ลงนามข้อตกลงครั้งที่ 6 กับ เอไอเอสเป็นผลให้ทีโอทีต้องสูญเสียรายได้ รวมเป็นเงิน 93,710,927,981.84 บาท จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติชี้มูลความผิดนายสุธรรม แก้ไขสัญญาสัมปทาน (ครั้งที่ 6) ให้เอไอเอส ได้ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในแบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าในชื่อวันทูคอล โดยมิชอบ

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตฯ พิพากษากลับ จากที่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง นายสุธรรม เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ , ทำ , จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ที่เป็นการสร้างความเสียหายแก่รัฐ ให้จำคุกทั้งสิ้น 9 ปี แต่พยานหลักฐานที่ จำเลย นำเข้าไต่สวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกรวม 6 ปี และให้จำเลย ชำระเงิน 46,855,463,990.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 33,030,343,367.97 บาท นับตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.59 ให้แก่ บริษัท ทีโอที ผู้เสียหาย คดีนี้ด้วย

ซึ่งระหว่างการยื่นฎีกาสู้คดีนี้ นายสุธรรมได้ประกันตัวไป โดยศาลตีราคาประกัน 800,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นได้รับอนุญาตจากศาล

ทั้งนี้ตามฟ้องระบุพฤติการณ์โดยสรุปว่า ระหว่างวันที่ 12 เม.ย.– 15 พ.ค.44 จำเลยปฏิบัติหน้าที่เป็น ผู้อำนวยการทศท. และกรรมการ (บอร์ด) ทศท. ได้ทำสัญญาอนุญาตให้บริษัท เอไอเอสดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งบริษัทจะต้องลงทุนอุปกรณ์ทั้งหมดและยกให้ ทศท. ก่อนที่จะนำไปให้บริการแก่ผู้ใช้บริการและกำหนดให้เอไอเอส จ่ายส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์ ปีที่ 1-5 อัตราร้อยละ 15 , ปีที่ 6-10 อัตราร้อยละ 20 , ปีที่ 11-15 อัตราร้อยละ 25 และปีที่ 16-20 อัตราร้อยละ 30

ต่อมา เอไอเอส มีหนังสือลงวันที่ 22 ม.ค.44 ถึง ผอ.ทศท.จำเลย ขอให้พิจารณาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าในชื่อ “วันทูคอล” โดยให้เหตุผลว่า ทศท.ปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายกรณีการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดให้แก่ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) ที่ให้บริการ ชื่อ พรอมท์ จากเดิมอัตราร้อยละ 200 ต่อเลขหมาย/เดือน เป็นอัตราร้อยละ 18 ของหน้าบัตร แต่นายวิเชียร นาคสีนวล ผอ.บริหารผลประโยชน์ เห็นว่าไม่ใช่เป็นการปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่าย แต่เป็นการกำหนดอัตราค่าเชื่อมโยงขึ้นใหม่ และไม่ใช่การลดส่วนแบ่งรายได้ จึงไม่สมเหตุผล ดังนั้นจึงไม่พิจารณาปรับลดส่วนแบ่งรายได้ให้กับ เอไอเอส และเมื่อเทียบกับเงินที่ดีแทค  จ่ายให้บริษัท กสท. และทีโอทีแล้ว ดีแทคจ่ายเงินมากกว่าเอไอเอสจ่ายให้ทีโอที

ต่อมามีการจัดทำกรณีศึกษาแบบอัตราก้าวหน้าและอัตราคงที่เสนอต่อ นางทัศนีย์ มโนรถ รอง ผอ.ทีโอที และนายสายัณห์ ถิ่นสำราญ ผอ.การเงินและงบประมาณ ก็ได้สั่งให้ศึกษาเพิ่มเติม โดยหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ในภายหลังกลับรับข้อเสนอของเอไอเอสและกำหนดส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าในอัตราร้อยละ 20 คงที่ตลอดอายุสัญญา และ นายสุธรรม ได้สั่งการให้ฝ่ายบริหารผลประโยชน์ ทำเอกสารเสนอ กรรมการทีโอทีให้ทันการประชุมครั้งต่อไป

กระทั่งการประชุมครั้งที่ 5/2544 เมื่อวันที่ 12 เม.ย.44 ที่ประชุมมีความเห็นว่าที่ เอไอเอส ขอลดส่วนแบ่งรายได้จากอัตราร้อยละ 25 เหลือร้อยละ 20 นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมแล้ว ทีโอทีและประชาชนน่าจะได้รับประโยชน์โดยตรง จึงมีมติเห็นชอบส่วนแบ่งรายได้บริการโทรศัพท์แบบบัตรวันทูคอล ที่ทีโอทีจะเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าหน้าบัตร โดยมีเงื่อนไขให้ทีโอทีเจรจากับเอไอเอสให้ได้ข้อยุติก่อน และให้ส่งส่วนแบ่งรายกับทีโอทีเป็นรายเดือน พร้อมทั้งนำผลประโยชน์ที่ เอไอเอสได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการโดยตรง และให้ทีโอที ติดตามผลการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ล่วงหน้า เพื่อเป็นข้อมูลปรับปรุงหลักเกณฑ์เก็บส่วนแบ่งในโอกาสต่อไปด้วย

แต่ นายสุธรรม ไม่ได้ดำเนินการเสนอผลการศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาทบทวนอัตราส่วนแบ่งรายได้ของ เอไอเอสให้บอร์ดทีโอทีพิจารณาอีกครั้งตามมติของบอร์ด กระทั่งบอร์ดทั้ง 7 คน พ้นจากตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 30 ก.ค.45 โดยจำเลย กลับใช้อำนาจฐาน ผอ.ทีโอที. ลงนามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตดำเนินกิจการครั้งที่ 6 ให้กับ เอไอเอส และกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนโทรศัพท์แบบวันทูคอล โดยให้ เอไอเอสแบ่งส่วนรายได้อัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าหน้าบัตร ซึ่งทำให้ ทีโอที ผู้เสียหายคดีนี้ได้รับส่วนแบ่งรายได้น้อยลง จากเดิมที่ได้รับตามสัญญาหลักในอัตราร้อยละ 25-30 โดยเมื่อเปรียบเทียบ ส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาหลัก กับสัญญาที่แก้ไขนั้น พบว่า ทีโอทีต้องสูญเสียรายได้ถึง 17,848,130,000 บาท และสูญเสียรายได้ในอนาคต จนถึงวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทานอีกเป็นเงิน 53,490,900,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 71,339,030,000 บาท โดย นายสุธรรม จำเลยให้การปฏิเสธ

ขณะที่คดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อปี 2560 ให้ยกฟ้อง และยกคำร้องของ บ.ทีโอทีฯ  ผู้เสียหาย ที่เรียกร้องค่าเสียหายด้วย แต่ นายอำนาจ พวงชมภู อธิบดีผู้พิพากษาศาลทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในขณะนั้น ได้ทำความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษาด้วยว่าเห็นควรให้ลงโทษจำเลย ซึ่งต่อมาอัยการโจทก์ ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา

โดย ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้แก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ฉบับหลักลงวันที่ 27 มี.ค.33) ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 15 พ.ค.44 ปรับส่วนแบ่งรายได้ให้ เอไอเอสจากการให้บริการโทรศัพท์แบบบัตรวันทูคอล โดยในการประชุมบอร์ดทีโอที ครั้งที่ 5/2544 เมื่อวันที่ 12 เม.ย.44 จำเลยเข้าร่วมประชุมและพิจารณามีความเห็นกรณี เอไอเอส ขอลดส่วนแบ่งรายได้จากร้อยละ 25 เหลือร้อยละ 20 โดยจำเลย ในฐานะผอ.ทีโอที.ลงนามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาครั้งที่ 6 กับเอไอเอส ที่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.44 ว่าให้ เอไอเอส แบ่งส่วนรายได้ในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าหน้าบัตร ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เคยวินิจฉัยว่าเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท เอไอเอสไม่ใช่การทำเพื่อประโยชน์ของราชการ และทำให้ทีโอทีเสียหาย

อีกทั้งการแก้ไขสัญญาในครั้งนั้นอัตราส่วนแบ่งรายได้แบบใช้บัตรวันทูคอลนั้นควรเป็นไปตามสัญญาหลักเนื่องจากการกำหนดส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายแก่คู่สัญญาภาครัฐในแบบอัตราก้าวหน้าหรือขั้นบันได เป็นการกำหนดอัตราที่มีความเป็นธรรมแก่คู่สัญญาฝ่ายรัฐผู้ให้สัญญา เพราะได้กำหนดค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐผู้ให้สัญญาตามสัดส่วนของรายได้

โดยความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ รักษาทรัพย์ ใช้อำนาจตำแหน่งโดยทุจริตฯ ม.151 อย่างน้อยผู้กระทำจะต้องมีเจตนาเจตนาพิเศษด้วย ซึ่งจำเลยจะมีเจตนาดังกล่าวหรือไม่เป็นเรื่องภายในใจของจำเลยที่จะต้องดูการกระทำเป็นสำคัญเพราะกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ซึ่งการประชุมเปรียบเทียบจำนวนเงินที่ดีแทคจ่ายแก่รัฐ มากกว่าที่เอไอเอสจ่าย และในการประชุมกลั่นกรองวาระการประชุมของบอร์ดทีโอที ก็มีมติให้ เอไอเอสจ่ายส่วนแบ่งรายได้ในอัตราคงที่ ร้อยละ 22

ต่อมาเมื่อมีการประชุมครั้งที่ 5/2554 ก็ลดส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ เอไอเอสหรืออัตราร้อยละ 20 โดยมีเงื่อนไขให้ ทีโอที ติดตามผลการให้บริการโทรศัพท์แบบใช้บัตรเติมเงิน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การเก็บส่วนแบ่งรายได้ในโอกาสต่อไป แต่จำเลยก็ไม่ดำเนินการจนกรรมการ 7 คน พ้นจากหน้าที่เมื่อวันที่ 30 ก.ค.45 ซึ่งหลังจาก นายสุธรรม ลงนามในสัญญาลดส่วนแบ่งรายได้ครั้งที่ 6 ให้แก่ เอไอเอสแล้ว ในการประชุมครั้งที่ 8/2544 จำเลย กลับรายงานต่อที่ประชุมว่า อยู่ระหว่างการดำเนินการทำร่างข้อตกลงต่อท้ายสัญญาครั้งที่ 6 ทั้งที่ความจริงจำเลยได้ลงนามในข้อตกลงครั้งที่ 6 ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.44 และมิได้กำหนดข้อตกลงให้มีการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การเรียกเก็บเงินส่วนแบ่งรายได้ในโอกาสต่อไป

จึงแสดงให้เห็นเจตนาว่าจำเลยปกปิดข้อเท็จจริงไม่แจ้งให้ที่ประชุมทราบด้วยเจตนาจะให้ เอไอเอสได้รับผลประโยชน์จากการลดส่วนแบ่ง ทั้งที่ตำแหน่งของจำเลย ขณะนั้นต้องรักษาผลประโยชน์ขององค์กร สมควรแจ้งข้อเท็จจริงที่เป็นผลประโยชน์ได้เสียขององค์กรให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาด้วยความรอบคอบ เมื่อการกระทำจำเลยเป็นความผิดอันเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่ปรับบทมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก

ส่วน นายสุธรรม ต้องรับผิดค่าเสียหายให้ บ.ทีโอทีหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ฯ เห็นว่า แม้ ทีโอที จะไม่ได้อุทธรณ์ในส่วนคำขอแพ่งนี้ก็ตาม แต่การยื่นคำร้องขอชดใช้ค่าเสียหายนั้นก็เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 44/1 ซึ่งเมื่ออัยการ โจทก์ยื่นอุทธรณ์แล้วก็ถือว่าคำร้องดังกล่าวได้อุทธรณ์แล้วเช่นกัน และเมื่อข้อเท็จจริงส่วนอาญาฟังว่า นายสุธรรม ใช้อำนาจในทางทุจริต ก็ต้องรับผิดชอบใช้เงินแก่ทีโอทีด้วย โดยศาลอุทธรณ์พิจารณาเรื่องการอนุมัติลดอัตราส่วนแบ่งรายได้แล้ว จำเลยไม่ได้พิจารณาแต่เพียงลำพัง ดังนั้นจึงสมควรให้จำเลยรับผิดเพียงครึ่งหนึ่ง เป็นเงิน 46,855,463,990.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.59 ซึ่งเป็นวันที่ทีโอทียื่นคำร้อง