posttoday

อัยการยื่นฟ้อง "วีระกานต์-ตู่-เต้น-เหวง" พร้อมแนวร่วม10คนข้อหาปลุกปั่น

26 มีนาคม 2561

อัยการ ฟ้อง "วีระกานต์-ตู่-เต้น-เหวง" พร้อมแกนนำ-แนวร่วม นปช. รวม 10 คน 3 ข้อหาปลุกปั่นชุมนุมไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์- กดดันองคมนตรีลาออกปี 52 นัดสอบคำให้การ 27 มี.ค.

อัยการ ฟ้อง "วีระกานต์-ตู่-เต้น-เหวง" พร้อมแกนนำ-แนวร่วม นปช. รวม 10 คน 3 ข้อหาปลุกปั่นชุมนุมไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์- กดดันองคมนตรีลาออกปี 52  นัดสอบคำให้การ 27 มี.ค.

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 10 ได้ยื่นฟ้อง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) , นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. , นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลยที่ 1-10  ในความผิดฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาฯ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง ให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 , มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และทำการฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ห้ามชุมนุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป รวมทั้งสิ้น 3 ข้อหา กรณี กลุ่ม นปช.จัดการชุมนุมใหญ่ ขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ครั้งแรกเมื่อปี 2552 ภายหลังมีการยุบพรรคไทยรักไทย

โดยอัยการได้แยกข้อหาฟ้องจำเลยแต่ละคนดังนี้ นายวีระกานต์ อายุ 70 ปี อดีตประธาน นปช.จำเลยที่ 1, นายจตุพร พรหมพันธุ์ อายุ 53 ปี ประธาน นปช. จำเลยที่ 2 และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อายุ 43 ปี แกนนำ นปช. จำเลยที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันชุมนุม ณ ที่ใดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนด ตาม ม.9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ส่วน นพ.เหวง โตจิราการ อายุ 67 ปี แกนนำ นปช. จำเลยที่ 4, นายสิระ หรือสรวิชญ์ พิมพ์กลาง อายุ 59 ปี แกนนำคนเสื้อแดง จ.สกลนคร จำเลยที่ 5 , นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อายุ 67 ปี แกนนำ นปช. จำเลยที่ 7, นายพิพัฒน์ชัย หรือสมชาย ไพบูลย์ อายุ 49 ปี แนวร่วม นปช. จำเลยที่ 8 และนายพายัพ ปั้นเกตุ อายุ 59 ปี แนวร่วม นปช. จำเลยที่ 9 ถูกยื่นฟ้อง 3 ข้อหา ในความผิดฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาฯ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง ให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 , มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และทำการฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ห้ามชุมนุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

สำหรับ นายณรงศักดิ์ มณี อายุ 52 ปี ชาว จ.นครสวรรค์ จำเลยที่ 6 ถูกยื่นฟ้องข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และนายพงศ์พิเชษฐ์ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง อายุ 60 ปี แนวร่วม นปช.จำเลยที่ 10 ถูกยื่นฟ้อง 2 ข้อหา ในความผิดฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาฯ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง ให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215

ทั้งนี้คำฟ้องอัยการ ระบุพฤติการณ์ สรุปว่า ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคเมื่อวันที่ 30 พ.ค.50 ก็ได้มีการจัดตั้งกลุ่ม นปช. ขึ้นมา โดยมีนายวีระกานต์ จำเลยที่ 1 เป็นประธาน ซึ่งจำเลยกับพวกที่เป็นแกนนำก็ได้นัดรวมตัวเพื่อเคลื่อนไหวกันตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.52 เรื่อยมา กระทั่งวันที่ 26 มี.ค.52 กลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ได้ปิดทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาลเพื่อขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และเมื่อสถานการณ์ชุมนุมเริ่มรุนแรงขึ้นก็มีผู้ชุมนุมบางส่วนเคลื่อนขบวนไปยังบ้านสี่เสาเทเวศร์ บ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เพื่อกดดันให้ พล.อ.เปรม , พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ลาออกจากตำแหน่งองคมนตรีด้วย ระหว่างนั้นก็ยังกดดันให้นายอภิสิทธิ์ และนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ลาออกจากตำแหน่งเช่นกัน

กระทั่งวันที่ 9 เม.ย.52 ซึ่งผู้ชุมนุมได้ประกาศกำหนดเส้นตายให้บุคคลดังกล่าวลาออกจากตำแหน่งแล้ว แต่รัฐบาลขณะนั้นไม่มีท่าทีจะปฏิบัติตาม แกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้กระจายกำลังไปปิดล้อมสถานที่ราชการสำคัญหลายแห่งใน กทม.รวมทั้งการปิดกั้นจราจรในพื้นที่ต่างๆ ตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศไว้ จากนั้นเมื่อพบว่าสถานการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมของ นปช. ทวีความรุนแรง นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นจึงได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐมากขึ้น และได้มีการออกข้อกำหนดห้ามไม่ให้มั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปในท้องที่ กทม.

แต่ภายหลังการออกประกาศและข้อกำหนดแล้วจนถึงวันที่ 14 เม.ย. 2552 กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงชุมนุมและปราศรัยปลุกระดมยุยง ณ เวทีบริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งการทำลายทรัพย์สินของทางราชการ , ยึดและเผารถโดยสารประจำทางในพื้นที่ กทม. และนำรถบรรทุกแก๊สไปจอดไว้กลางถนนเพื่อข่มขู่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และประชาชนเดือดร้อนเสียหาย โดยกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เหตุเกิดที่แขวง-เขตดุสิต, แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี, แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร และแขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม.

ท้ายฟ้อง อัยการยังได้ขอให้ศาลนับโทษของนายวีระกานต์ , นายจตุพร , นายณัฐวุฒิ , นพ.เหวง และนายวิภูแถลง ในคดีนี้ต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่ถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันก่อการร้ายด้วย โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิแจ้งข้อกล่าวหาและทำการสอบสวนจำเลยทั้งสิบตั้งแต่เดือน เม.ย.52 – 18 มิ.ย.52 แล้ว ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

ศาลประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.968/2561 โดยศาลจะเบิกตัวนายจตุพร จำเลยที่ 2 ในคดีนี้ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีหมิ่นประมาทนายอภิสิทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี มาสอบคำให้การพร้อมกับจำเลยอื่นในวันที่ 27 มี.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

อัยการยื่นฟ้อง "วีระกานต์-ตู่-เต้น-เหวง" พร้อมแนวร่วม10คนข้อหาปลุกปั่น

ด้าน ทนายความแกนนำและแนวร่วม นปช.ทั้ง 9 คน ยกเว้นนายจตุพร ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 200,000 บาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา ซึ่งช่วงเย็นที่ผ่านมา ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้ง 9 คน โดยตีราคาประกันคนละ 200,000 บาท

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า พวกตนถูกดำเนินคดีทั้งในกรุงเทพฯ และพัทยา เราได้ทำเรื่องร้องขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุดว่าเป็นการฟ้องซ้ำหรือไม่ ซึ่งขณะนี้เรื่องก็ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา ยังไม่มีข้อสรุปจากอัยการสูงสุด

อย่างไรก็ตามวันที่ 29 มี.ค.นี้ ตนก็ต้องไปพบพนักงานอัยการที่พัทยาอีก ในสำนวนคดีอื่นที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมครั้งเดียวกันปี 2552 โดยทุกคดีเราพร้อมสู้ตามกระบวนการยุติธรรมถึงที่สุด และต้องร้องขอความเป็นธรรมว่าการฟ้องซ้ำซ้อนเช่นนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า บรรทัดฐานในคดีนี้ น่าจะเทียบเคียงได้กับกรณีชุมนุมทางการเมืองอื่นๆ เช่น กลุ่ม กปปส. ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ขัดขวางการเลือกตั้ง จ.พัทลุงแล้วก็น่าจะมีการดำเนินคดีกับแกนนำและผู้สนับสนุนในส่วนกลางที่ปลุกระดมให้มีการขัดขวางการเลือกตั้งด้วย หรือแม้กระทั่งการก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงกันที่แยกหลักสี่ซึ่งมือปืนป๊อบคอร์นถูกดำเนินคดีแล้ว ก็ยังมีชายฉกรรจ์อีกจำนวนมากในกลุ่ม กปปส.ที่ถืออาวุธ ปรากฏเห็นหน้าตาชัดเจนแต่ยังไม่มีการดำเนินคดี

"ผมอยากเห็นกระบวนการยุติธรรมที่มีมาตรฐานเดียวกันชัดเจนตรงไปตรงมา ยืนยันว่าไม่ได้มีความคิดที่จะตามหาเรื่อง หรือไปผูกพยาบาทใดๆ กับการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มอื่น"นายณัฐวุฒิกล่าว